เชิญร่วมงาน รวมพลังสายใย...เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลมชัก วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.62 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 รพ.พระมงกุฎเกล้า

เชิญร่วมงาน รวมพลังสายใย...เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลมชัก วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.62 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 รพ.พระมงกุฎเกล้า 

 

ผู้เขียน หัวข้อ: อาการชักในทารกแรกเกิด (Neonatal seizure)  (อ่าน 7687 ครั้ง)

ออฟไลน์ NONG

  • Shoutbox
  • Hero Member
  • *
  • กระทู้: 1,451
อาการชักในทารกแรกเกิด (Neonatal seizure)
« เมื่อ: วันอังคารที่ 20 กันยายน 2011 เวลา 12:17 น. »
อาการชัก เป็นอาการที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่ง และพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยเฉพาะทารกในหออภิบาลทารกแรกเกิด โดยพบได้ร้อยละ 25 ของทารกที่รับการรักษาในหออภิบาลทารกแรกเกิด  ซึ่งร้อยละ 85 เกิดขึ้นภายในอายุ  15 วัน  และร้อยละ 65  เกิดขึ้นระหว่างอายุ 2 - 5 วัน (พิมลรัตน์  ไทยธรรมยานนท์, 2545) อาการชักเป็นสิ่งแสดงสิ่งแรกที่พบบ่อยเมื่อสมองเริ่มทำงานผิดปกติ  หากปล่อยให้ทารกแรกเกิดชักอย่างรุนแรง  ชักติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือชักซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เรื่อยๆ จะเกิดการทำลายในเนื้อสมองของทารกไม่มากก็น้อย  ดังนั้นการที่ทารกแรกเกิดมีอาการชักจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพยายามหาสาเหตุเพื่อแก้ไขต่อไป

ชักเป็นอาการทางคลินิกของระบบประสาทที่ทำงานผิดปกติเป็นพักๆ (paroxysmal)  ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมการเคลื่อนไหว และ/หรือเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ   การแกว่งขึ้นลงของความดันโลหิต เป็นต้น  การชักที่เกิดขึ้นนี้จะมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ที่เรียกว่าคลื่นไฟฟ้าของการชัก (electrical seizure) ร่วมด้วย  หรือไม่ก็ได้  ทั้งนี้ประมาณร้อยละ 60 ของทารกที่มีอาการชัก แต่ไม่มีความผิดปกติของ EEG (พิมลรัตน์  ไทยธรรมยานนท์, 2545)  แต่อย่างไรก็ตามทารกแรกเกิดอาจมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างที่ดูคล้ายชักได้ เช่น  อาการบิดตัว  หน้าตาแดง  เป็นพักๆ  ขากระตุก 1 - 2 ครั้ง ขณะหลับ (myoclonic jerk)  อาการคล้ายผวาเมื่อตกใจ (startle reflex)  อาการสั่นระรัวของแขน ขา และคาง (jitteriness)  เมื่อทารกเคลื่อนไหวและร้องไห้ เป็นต้น

การจำแนกชนิดของการชัก

 ปัจจุบันนิยมแบ่งการชักในทารกแรกเกิดเป็น  2  กลุ่มใหญ่ๆ คือ

 1.  Clinical seizure  คือ มีการชักให้เห็นโดยจะมี EEG   ผิดปกติหรือไม่ก็ได้
 2.  Electrical  seizure คือ มีความผิดปกติของ EEG  ที่เรียกว่า คลื่นไฟฟ้าของการชัก แต่มีอาการชักหรือไม่ก็ได้

ลักษณะการชัก

 ลักษณะของการชัก แบ่งออกได้เป็น  4  แบบใหญ่ๆ  คือ

 1.  Subtle seizure
 เป็นอาการชักที่พบมากที่สุดของการชักในทารกแรกเกิด  ส่วนใหญ่ไม่มี EEG ผิดปกติ พบในทารกเกิดก่อนกำหนดมากกว่าทารกครบกำหนด ( Blackburn,2003 ) บางครั้งอาการเหล่านี้อาจถูกมองข้ามไป  โดยจะมีอาการทั้งทางการเคลื่อนไหว และทางตา เช่น

      อาการทางตา :      ลืมตาค้าง  ตากระพริบถี่ๆ  ตาจ้องตรง  กรอกตาไปมา  ในทารกแรกเกิดก่อนกำหนด  ส่วนในทารกแรกเกิดครบกำหนดจะมีอาการกรอกตา จ้องไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง
      อาการทางการเคลื่อนไหว :  ถีบขาเหมือนถีบจักรยาน  เคี้ยวช้าๆ ปากเบี้ยว  อาจพบอาการ แลบลิ้น  แกว่งแขนเหมือนกรรเชียงเรือในทารกแรกเกิดครบกำหนด

บางครั้งอาจพบอาการหยุดหายใจ  แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสรุปไว้ว่าการหยุดหายใจ  อาจเกิดจากชักได้  ขณะเดียวกันการหยุดหายใจในทารกแรกเกิดก่อนกำหนดส่วนมากไม่ได้เกิดจากการชัก และหากการหยุดหายใจเกิดจากการชัก ในทารกแรกเกิดครบกำหนดอาจพบการมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมอง (ทายาท  ดีสุดจิต,  2542)

2.  Clonic seizure
การชักแบบนี้มักมี EEG ผิดปกติบ่อยสุดเมื่อเทียบกับการชักแบบอื่นๆ โดยจะมีอาการกระตุกซ้ำๆ เป็นจังหวะ 1 - 2 ครั้ง/วินาที  แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ

     Focal clonic seizure  จะกระตุกที่ใบหน้า  ลำตัว  แขน  ขา  ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น และพบบ่อยว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวขณะและหลังชัก
     Multifocal clonic seizure จะมีการกระตุ้นเหมือนแบบแรก หากแต่มีการเคลื่อนที่จากตำแหน่งหนึ่งไปอีกตำแหน่งหนึ่ง เช่น เคลื่อนที่จากแขนไปขา หรือจากขาไปแขน  หรือจากซีกหนึ่งไปยังอีกซีกหนึ่ง พบในทารกแรกเกิดครบกำหนดมากกว่า

3.  Tonic seizure
จะมีอาการเกร็ง  แข็งค้างอยู่  ซึ่งมีได้  2  ลักษณะ  เช่นกันคือ

     Focal tonic seizure คือเกร็งเฉพาะที่คอ  ลำตัว  แขน และ/หรือ แขน ขา ที่ใดที่หนึ่ง มักพบร่วมกับการมีคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ
     Generalized tonic seizure  คือเกร็งทั้งตัว  รวมทั้งแขน ขา ทั้งสองข้าง  คลื่นไฟฟ้าสมองมักจะปกติ  พบได้บ่อยในรายที่มีเลือดออกในช่องสมองอย่างรุนแรง

4.  Myoclonic seizure
การชักลักษณะนี้ต่างจาก clonic seizure ตรงที่การชักลักษณะนี้  จะกระตุกเร็วกว่า และมักจะเกิดเฉพาะกับกล้ามเนื้อกลุ่มพับงอ (flexor group) นอกจากนี้ ยังมีอาการชักที่ควรจะกล่าวถึงอีก 2  ชนิด คือ                     

     Silent EEG seizure  หมายถึง  ลักษณะที่คลื่นไฟฟ้าสมองแสดง electrical seizure แต่ทารกไม่มีอาการชัก  มักพบในทารกที่ได้รับยาระงับชัก
     การชักในโรคบาดทะยัก  ทารกจะมีอาการเกร็งกระตุกอย่างแรงซ้ำถี่ๆ กันทั้งตัว มีขากรรไกร  แข็ง  หน้ายิ้ม แสยะ  หลังแอ่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง  คอ และหลังแข็งเกร็ง  มักพบในบางพื้นที่ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการคลอดและการดูแลสะดือไม่ถูกลักษณะไม่มีการให้ tetanus toxoid แก่มารดาขณะตั้งครรภ์ พบในทารกเกิดครบกำหนดเป็นส่วนใหญ่ และมักจะเริ่มชักหลังอายุ  3  วันไปแล้ว

ส่วนกลุ่มอาการ jitteriness  เป็นกลุ่มอาการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่การชัก  มีลักษณะเด่น คือ ทารกจะมีอาการสั่น  บางครั้งอาจเป็นมากถึงกับมีกระตุกกลับไปกลับมาของแขน ขา หรือ คาง แต่กลุ่มอาการนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติของตา  เช่น ตาจ้องค้าง  และจะมีอาการมากขึ้นเมื่อมีการกระตุ้น เช่น เสียง หรือการเคลื่อนไหว  อาการจะสงบหรือหายไปเมื่อจับหรือห่อตัวทารกอย่างนุ่มนวล ให้อยู่ในท่าเหมือนอยู่ในโพรงมดลูกของมารดา  คือให้แขนงอพับไว้บนอก  ขางอพับไว้บนหน้าท้อง  กลุ่มอาการ jitteriness จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการหายใจ  การเต้นของหัวใจและความดันโลหิต  สาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการนี้ คือ ระดับแคลเซียมต่ำ  น้ำตาลในเลือดต่ำ และอาการถอนยา (drug withdrawal)

จะเห็นว่า อาการชักในทารกแรกเกิดมีหลายลักษณะ  บางครั้งอาการแสดงที่มองดูเหมือนไม่ใช่อาการชัก  กลับเป็นอาการชักชนิดหนึ่ง  ในขณะเดียวกันอาการที่มองดูเหมือนเป็นอาการชักกลับไม่ใช่  ดังนั้นพยาบาลควรจะมีความรู้และเข้าใจถึงอาการและชนิดของการชักในทารกแรกเกิด  เพื่อจะได้เฝ้าระวังและมีความไวต่อความผิดปกติแต่แรกเริ่ม   รายงานแพทย์ได้ทันท่วงที  เพื่อแพทย์จะได้นำไปเป็นแนวทางในการวินิจฉัย  ให้การรักษาและติดตามประเมินการตอบสนองต่อการรักษาต่อไป

ที่มา http://www.cmnb.org/cmnb/index.php/newborn/sick-newborn/17-neonatal-seizure

 


Powered by EzPortal