เชิญร่วมงาน รวมพลังสายใย...เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลมชัก วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.62 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 รพ.พระมงกุฎเกล้า

เชิญร่วมงาน รวมพลังสายใย...เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลมชัก วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.62 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 รพ.พระมงกุฎเกล้า 

 

ผู้เขียน หัวข้อ: ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก  (อ่าน 34536 ครั้ง)

ออฟไลน์ sudarat

  • Meeting2
  • Jr. Member
  • *
  • กระทู้: 19
ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก
« เมื่อ: วันพุธที่ 01 กันยายน 2010 เวลา 21:25 น. »
 :D ;D :o :) ;)
          อยากรวบรวมเกี่ยวกับโรคลมชักให้อ่านคะ เผื่อจะได้ไม่ต้องหายากกัน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันอังคารที่ 18 มกราคม 2011 เวลา 23:37 น. โดย popja »

ออฟไลน์ sudarat

  • Meeting2
  • Jr. Member
  • *
  • กระทู้: 19
Re: ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: วันพุธที่ 01 กันยายน 2010 เวลา 21:35 น. »
อาการลมชักเป็นอย่างไร และอะไรมิใช่อาการลมชัก

      อาการชัก เกิดจากสมองสั่งงานมากผิดปกติชั่วครู่ จากไฟฟ้าของการชักเกิดขึ้นและกระจายออกไปในสมองบริเวณต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นทันที และดำเนินอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ลักษณะอาการชัก

ก. เป็นอาการที่สมองสั่งงานมากขึ้น เช่น เคลื่อนไหวมาก (เกร็ง กระตุก) รับความรู้สึกผิดปกติ (เห็นภาพ หูแว่ว ได้กลิ่นแปลก ๆ) หรือสมองทำงานผิดปกติไป เช่น สูญเสียการรับรู้ (ได้แก่ วูบ เหม่อ นิ่งค้าง) ร่างกายหรือแขนขาอ่อนแรงไปทันที
ข. เกิดขึ้นเอง ไม่เลือกเวลา สถานที่
ค. อาการเป็น ๆ หาย ๆ กินเวลานานครั้งละ 2 – 5 นาที
ง. อาการดำเนินไปตามระยะต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ ระยะเริ่มต้น ได้แก่ อาการเตือนหรือ aura (พบได้ราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย) ตามด้วย ระยะชัก ความรู้สึกตัวมักจะบกพร่อง เกิดอาการเคลื่อนไหว อาจล้มหรือบาดเจ็บ จบลงด้วยระยะหลังชัก ได้แก่ อาการเพลีย หลับ หรือ สับสน
จ. เป็นแล้วมักหยุดได้เอง แล้วคนไข้จะกลับสู่สภาวะปกติ
ฉ. ขณะชักอาจเกิดล้ม บาดเจ็บ อุบัติเหตุ ถ้าขาดออกซิเจน ตัวจะเขียวบางรายกัดกระพุ้งแก้ม น้ำลายไหล ปัสสาวะราด
ช. ถ้าเกิดชักซ้ำ อาการมักเป็นเหมือนเดิมในคนเดียวกัน แต่จะต่างกันไปในคนไข้แต่ละคน
ซ. มักเกิดร่วมกับความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง

     อาการชักคล้ายชัก (Nonepileptic disorders) ได้แก่ อาการเป็น ๆ หายๆ อย่างอื่น ที่ไม่เข้ากับลักษณะอาการชักข้างต้น เช่น อาการเป็นลม (Syncope) จะหมดสติ ตัวอ่อน หน้าซีด เหงื่อแตก ส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ล้มลง ส่วนน้อยจะล้มทันที บางคนเกร็งหรือสั่นกระตุกได้ แต่มักเกิดภายหลังอาการตัวอ่อนปวกเปียก มักฟื้นเร็วและรู้ตัวโดยไม่สับสน การนอนผิดปกติ (Sleep disorders) มักเกิดขณะหลับ มีลักษณะเฉพาะเช่น กรีดร้อง (Night terror) หรือเดินละเมอ หรือสะดุ้งขณะหลับ (Parasommias) นานหลายสิบนาที หรือหลับง่ายในเวลาตื่น (Narcolepsy) การเคลื่อนไหวผิดปกติ (Movement disorders) ได้แก่ อาการสั่น (tremor) เกร็งบิด (Dystonia) เคลื่อนไหวเร็วไร้แบบแผน (Dyskinesia) ขณะเป็นผู้ป่วยมักรู้ตัวตลอด และเป็นเกือบตลอดเวลา แต่มากขึ้นด้วยท่าทางบางอย่างเช่น การเคลื่อนไหว หรืออยู่นิ่ง ๆ ขณะเดิน อาการทางจิต (Psychogenic seiezure) อาการมักจะไม่เหมือนเดิมเมื่อเป็นซ้ำ มักไม่เกิดการบาดเจ็บ บางครั้งเกิดและหยุดได้ตามสถานการณ์ภายนอก เช่น การพูดแนะ หรือเกิดทันทีหลังเครียดจัด มักกินเวลานานกว่า 5 นาที

         ตารางอาการคล้ายชัก (Nonepileptic disorders) ได้แก่อาการเป็น ๆ หาย ๆ ประเภทต่าง ๆ :
อาการเป็นลม (Syncope) หรือ อาการเป็นลมร่วมกับเกร็งกระตุก (Convulsive syncope)
การนอนผิดปกติ (Sleep disorders) เช่น sleep apnea, night terror, periodic limb movement disorder, parasommia ชนิดต่าง ๆ, norcolepsy การเคลื่อนไหวผิดปกติ(Movement disorders) เช่น tremor, chorea, athetosis, balismus, dystonia, myoclonus, tics, akethisia parkinsonism  อาการทางจิตที่คล้ายชัก (Psychogenic seizures) เช่น panic attack, hyperventilation, conversion, pseudoseizure
การทรงตัวผิดปกติ (Vestibular disorders) เช่น vertigo
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันพุธที่ 01 กันยายน 2010 เวลา 21:37 น. โดย sudarat »

ออฟไลน์ sudarat

  • Meeting2
  • Jr. Member
  • *
  • กระทู้: 19
Re: ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: วันพฤหัสบดีที่ 02 กันยายน 2010 เวลา 10:23 น. »
สาเหตุของโรคลมชัก (Causes of Epilepsy) (ILAE 2009)

 
1) พันธุกรรม (Genetics) ได้แก่

กลุ่มอาการที่เด่นชัดและเริ่มเกิดโรคลมชักตามอายุ (Electroclinical syndromes by age of onset), ความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมกับผิวหนัง (Neurocutaneous syndromes), เซลล์สมองพัฒนาผิดรูปบางชนิด (MCD)


2) สาเหตุจากรอยโรคในสมองหรือเมตะบอลิก (Structural / Metabolic) ได้แก่
แผลเป็นที่ฮิปโปแคมปัส (HS), เนื้องอกต่างๆ (Tumors), เส้นเลือดผิดปกติ (Angiomas), หลังภยันตราย (Post traumatic)ม การคลอดลำบาก (Perinatal insults)


3) ยังไม่ทราบสาเหตุ (Unknown) ได้แก่

โรคลมชักที่ไม่พบรอยโรคในสมอง (Non-lesional epilepsy) 

โรคหรือกลุ่มอาการลมชักที่พบบ่อย (Common Epilepsy/Epileptic syndromes)

 
1) โรคลมชักจากแผลเป็นที่ฮิปโปแคมปัส MTLE (Mesial temporal lobe epilepsy) หรือ TLE with HS เป็นโรคลมชักที่พบบ่อยที่สุดในทุกอายุ ลักษณะเด่น : 
อาการชักมักเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบขึ้นไป
อาการเตือน (aura) ได้แก่ ใจหวิว ลมตีขึ้นจากท้อง กลัว เห็นภาพหลอน
อาการชัก ได้แก่ เหม่อนิ่ง ตาจ้อง ไม่ตอบสนอง มือคลำข้าวของหรือเคลื่อนไปมาซ้ำๆ เคี้ยวปากหรือพูดคำซ้ำๆ 
อาการหลักชัก ได้แก่ สับสน เดินวุ่นวาย อาการชักมักหายเป็นปกติใน 2-3 นาที
เมื่อผู้ป่วยมีสิ่งกระตุ้นหรือขณะหลับ อาจมีอาการชักเกร็ง กระตุกทั้งตัวอย่างแรง (ลมบ้าหมู) ตามด้วยอาการสับสน นานราว 3-5 นาที
หลังเริ่มชักความจำผู้ป่วยมักเลวลง ระบบประสาทอย่างอื่นมักปกติ
ส่วนใหญ่ มีประวัติชักจากไข้สูงหลายครั้งในวัยเด็ก อาการชักมักหายไป 5-10 ปี ก่อนเกิดโรคลมชักในช่วงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่
การวินิจฉัยประกอบได้แก่ คลื่นสมอง (EEG) พบไฟฟ้าของการชัก (IED) บริเวณ anterior temporal; MRI พบ hippocampal sclerosis (HS) (ดังภาพ)
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองดีต่อยากันชัก CBZ, LTG, LVT แต่ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะดื้อยา (อาจดือแต่แรกหรือเกิดภายหลัง)
เมื่อดื้อยามากกว่า 2-3 ชนิดขึ้นไป ผู้ป่วยควรต้องได้รับการประเมินเพื่อผ่าตัดโรคลมชักตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้หายชักหมดได้มากกว่า 80% ของผู้ป่วยที่ดื้อยา (AAN Recommendation ระดับ A, 2003)
 
2) โรคลมชักเจ เอ็ม อี JME (Juvenile Myoclonic Epilepsy) เป็นโรคลมชักที่พบบ่อยที่สุดในวัยเด็ก ลักษณะเด่น :
 
อาการชักมักเริ่มเกิดในช่วงวัยรุ่น
อาการชัก ได้แก่ ชักสะดุ้ง (myoclonic seizure) อาจทำให้ของหลุดมือ (ดังภาพ) ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) หรือเหม่อนิ่ง
มักชักหลังตื่นนอนใหม่ๆ มักกระตุ้นด้วยการอดนอน หรือดื่มสุรา ระบบประสาทอย่างอื่นมักปกติ
อาจมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว
การวินิจฉัยประกอบได้แก่ คลื่นสมอง พบ generalized polyspike waves โดยเฉพาะขณะชักสะดุ้ง; MRI มักปกติ
ตอบสนองดีต่อยา VPA, LTG แต่จะกำเริบ (relapse) ทุกราย ถ้าลดยาหรือหยุดยา
 
3) โรคลมชักแอล จี เอส (LGS, Lennox-Gastaut syndrome) เป็นโรคลมชักที่รักษายาก ลักษณะเด่น :
อาการชักเริ่มเกิดในวัยเด็ก
มีอาการชักหลายๆ แบบ ที่พบบ่อยคืออาการชักเกร็ง (GT) ชักสะดุ้ง (myoclonic) วูบล้ม (atomic) อาการชักล้มมักทำให้บาดเจ้ดต่อศีรษะและใบหน้า (ดังภาพ) อาจมีอาการชักเหม่อ หรือชักลมบ้าหมูด้วย
มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ และพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติร่วมด้วย
วินิจฉัยประกอบด้วยคลื่นสมองที่มีลักษณะเฉพาะ (generalized slow spike waves)
อาการชักและคลื่นสมองมักเป็นมากขึ้นขณะหลับ และมักดื้อต่อยากันชักอย่างมาก
ยาที่อาจได้ผลคือ VPA, LTG, LVT, TPM อาจต้องใช้ยาร่วมกันหลายตัว โดยระวังมิให้เกิดอาการข้างเคียงจากยา
ควรหลีกเลี่ยงยา CBZ, GBP, OXC, PGN เพราะทำให้ชักมากขึ้น และหลีกเลี่ยง CZP ซึ่งทำให้หลับและชักมากขึ้น
แม้จะคุมอาการชักได้ไม่หมด แต่การทุเลาอาการชักด้วยยาหรือการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (VNS) ทำให้ดูแลผู้ป่วยง่ายขึ้น
ควรป้องกันการบาดเจ็บด้วยการใส่หมวกแข็งและระวังการล้มฟาด
 
4) โรคลมชักเหม่อในเด็ก CAE (Childhood absence epilepsy) เป็นโรคลมชักที่รักษาง่าย การพยากรณ์โรคดี ลักษณะเด่น :
เริ่มเกิดในเด็กเล็ก อายุ 6-12 ขวบ
อาการชักจะสั้นมาก เป็นเพียงอาการเหม่อนิ่งค้าง ไม่รับรู้สิ่งแวดล้อม 5-10 วินาที ซึ่งสังเกตได้ยากแต่เป็นบ่อยมากเกือบทุกวัน
พัฒนาการทางสมองมักปกติ บางรายมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว
อาการชักแม่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่เป็นอุปสรรคต่อการเรียน การรับรู้และการดำเนินชีวิต
วินิจฉัยประกอบด้วยคลื่นสมองที่มีลักษณะเฉพาะ (3-Hz generalized spike-waves) ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการได้ด้วยการหายใจแรงๆ หรือใช้แสงกระพริบ; MRI มักปกติ
ตอบสนองดีต่อยากันชัก VPA, LTG หรือ TPM
เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคดี อาจหายได้เองเมื่อโตขึ้น และอาจหยุดยาได้
 
5) โรคลมชักทิวเบอร์รัส สเคลอโรซีส TS (Tuberous sclerosis) เป็นโรคลมชักจากพันธุกรรม เนื่องจากมีเนื้อผิดปกติอยู่ในสมองบริเวณต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดอาการชัก ลักษณะเด่น 
อาการหลากหลายในแต่ละคน และเกิดได้ทุกอายุ บางรายมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ
อาการทางผิวหนัง ช่วยทำให้วินิจฉัยโรคได้ ได้แก่ ผื่นคล้ายสิวที่จมูกและแก้ม (adenoma sebaceum) ปานขาวตามผิวหนัง (hypopigmentation) ผื่นผิวหนังหนาและขรุขระ เนื้องอกข้างเล็บ เป็นต้น
วินิจฉัยประกอบ โดยใช้ MRI จะพบก้อนหลายบริเวณในสมอง และ CT Scan พบหินปูนรอบผนังช่องน้ำในสมองเหมือนหยดน้ำตาเทียน
ตอบสนองต่อยากันชัก เช่น LTG, CBZ, LVT ผลการหายชักแตกต่างกันไป
บางรายสามารถผ่าตัดก้อนในสมองที่ทำให้ชัก ซึ่งตรวจได้จาก AMT-PET Scan


       
 

ออฟไลน์ sudarat

  • Meeting2
  • Jr. Member
  • *
  • กระทู้: 19
การเลือกยากันชัก
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: วันเสาร์ที่ 04 กันยายน 2010 เวลา 08:59 น. »
       โดยมากประสิทธิภาพของยาไม่ค่อยต่างกัน แต่ต่างกันที่อาการข้างเคียงของยา
คนไข้แต่ละราย จะตอบสนองหรือเกิดอากาข้างเคียงต่างกัน ต้องดูเป็นรายๆ
มีแนวทางการเลือกยาดังนี้

ก. เลือกตามอาการชัก (ข้อมูลจาก Evidence based up to 2009)

Focal seizure             อันดับแรก LTG, CBZ, LVT
                              อันดับสอง OXC, PHT, VPA, PGN
                              ควรหลีกเลี่ยง PB, GBP, TPM, และ CZP เป็นยาตัวแรก
Generalized seizure   อันดับแรก VPA, LTG, LVT
Focal seizure            อันดับสอง TPM, C2P
Epileptic (infantile) spasm อันดับแรกVGB
ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็น Focal หรือ Gen ควรเลือก Broad spectrum AED: LTG, VPA

ข. ไม่เลือกยาเลียนแบบ (Local-made หรือ generic AED)
        ควรใช้ Branded AED เป็นอันดับแรก (AAN recommendation, 1990)

ค. เลือกตาม profile ผู้ป่วย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์
           มีประวัติแพ้ยา หลีกเลี่ยง CBZ, LTG, PHT, OXC, PB
         มีปัญหาความจำ หลีกเลี่ยง PB, TPM, LVT
         สตรีใช้ oral pill หลีกเลี่ยง PB, PHT, CBZ หรือเพิ่มขนาดยาคุมกำเนิด
           ผู้สูงอายุ เลือก GBP, LTG
มีโรคอื่นและใช้ยาหลากอย่าง หลีกเลี่ยง PB, CBZ, PHT, VPA
สตรีต้องการมีบุตร หลีกเลี่ยง VPA และยารุ่นใหม่ทุกตัว (ยกเว้น LTG ใช้ได้)
มีโรคตับ หลีกเลี่ยง VPA ระวังการใช้ CBZ, PB, PHT
มีโรคไต หลีกเลี่ยงหรือลดขนาด GBP, PGN, LVT, VGB
 
                         การเริ่มยากันชัก
เริ่มด้วยยากันชัก ทีละหนึ่งตัวเท่านั้น (monotherapy) ไม่ควรเริ่มหลายตัวร่วมกัน เริ่มขนาดน้อย ค่อยๆ เพิ่มขนาดยาช้าๆ ทุก 2-4 สัปดาห์ ประเมินการตอบสนอง เมื่อยาถึง steady stale

                         วิธีการปรับยา
เป้าหมายการปรับยา คือ เพิ่มขนาดยาจนอาการชักหายหมด หรือเพิ่มจนแน่ใจว่ายาไม่ได้ผล (คุมชักไม่ได้ หรือเกิดอาการข้างเคียงที่ผู้ป่วยทนไม่ไหว)
ยาทุกชนิดควรเพิ่มยาช้าๆ โดยเฉพาะ CBZ, LTG, OXC, TPM, LVT, GBP
ปรับยาให้สูงสุดถึง max tolerated dose. รอเวลายาให้ผลที่ steady state
ดูผลของยาแต่ละชนิดให้ถึงที่สุด ก่อนจะเริ่มใช้ยาตัวต่อไป (ไม่ควรเพิ่มขนิดยา ยังโดยไม่เพิ่มขนาดยาชนิดที่กำลังใช้อยู่ให้เต็มที่ก่อน ปรับเวลาการเพิ่มขนาด หรือจำนวนครั้งต่อวันของการกินยา ตามเภสัชวิทยาของยาแต่ละชนิด (CBZ เพิ่มขนาดหลัง 2-3 สัปดาห์ : PHT ยิ่งใช้ขนาดสูง ยิ่งเพิ่มขนาดช้า
ถ้ายาชนิดหนึ่งไม่ได้ผล ค่อยๆ ลดยาเดิมลงช้าๆ พร้อมเริ่มยาตัวต่อไป (cross over) การลดยาควรลดช้าๆ เช่นเดียวกับการเพิ่มยา ควรเพิ่มหรือลดยาครั้งละหนึ่งชนิดเท่านั้น เพื่อให้ทราบผลของยาชนิดนั้นๆ
ขณะลดยา ระวังอาการชักที่อาจเพิ่มขึ้น ขณะเพิ่มยา ระวังอาการเป็นพิษ
ยาที่ไม่ได้ผลหรือเคยเกิดอาการข้างเคียงมาแล้ว ไม่ควรกลับมาใช้อีก (ไม่ปรับยากลับไปกลับมา)
หากยังไม่หายชัก ควรเพิ่มขนาดยาทุกครั้งที่ผู้ป่วยมาติดตามการรักษา
ถ้าหายชักด้วยยาใด ให้คงยานั้นไว้ อย่างน้อย 2-5 ปี จึงพิจารณาหยุดยา
เมื่อใช้ยากันชักมากกว่า 3 ชนิดแล้วไม่ได้ผล ให้วินิจฉัยว่าดื้อยา เพื่อพิจารณาประเมินการผ่าตัดต่อไป
การประเมินผลการรักษา ดูผลการตอบสนองและอาการข้างเคียงของยาจากอาการทางคลินิก (ไม่ใช่ตามขนาดยาในตำรา หรือตามระดับยาในเลือด) ไม่จำเป็นต้องเจาะระดับยาในเลือดในการติดตามทุกครั้ง นอกจากมีข้อบ่งชี้เท่านั้น ประเมินผลการหายด้วยปฏิทินบันทึกอาการชัก
ดูผลการหายจากความถี่ของการชัก, ความรุนแรงของการชัก ประกอบการประเมินของผู้ป่วยและผู้ดูแล
โดยทั่วไป ติดตามการรักษาและปรับยาทุก 4-12 สัปดาห์ ถ้าชักบ่อยหรือเกิดอาการข้างเคียงต้องติดตามเร็วขึ้น
 
                          การหยุดยากันชัก
ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ไม่ควรกำหนดเวลาตายตัวว่าต้องหายชักนานกี่ปีจึงหยุดยาได้ เพราะโรคลมชักแต่ละโรคไม่เหมือนกัน
ในผู้ป่วยที่หายชักหมดแล้ว 45% เท่านั้นที่จะหยุดยาได้ ส่วนอีก 55% หยุดไม่ได้
การหยุดยาได้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่าการปรับยาให้ผู้ป่วยหายชักหมด
กรณีไม่หยุดยากันชัก
เมื่อโอกาสชักกำเริบ (Relapse) มีมาก เช่น focal seizure. มีรอยโรคในสมอง, JME หรือเคยลดยาแล้วชัก
หากชักกำเริบอาจเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุ เช่น จากการขับรถ สูญเสียการงาน บาดเจ็บจากการล้ม หรือชักต่อเนื่อง เมื่อไม่มีอาการข้างเคียงจากยากันชักที่ใช้อยู่
 

ออฟไลน์ sudarat

  • Meeting2
  • Jr. Member
  • *
  • กระทู้: 19
หลักการปรับยากันชัก
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: วันเสาร์ที่ 04 กันยายน 2010 เวลา 09:07 น. »
ก) First monotherapy
          ใช้ยาชนิดแรกแล้วได้ผล ให้คงขนาดยานั้นไว้เท่าเดิม เป็นเวลามากกว่า 2 ปี (ตอบสนองต่อยา : คือหายชักหมด และไม่มีอาการข้างเคียงจากยา)
ข) Second monotherapy
          ใช้ยาชนิดแรกเต็มที่แล้วไม่ได้ผล ค่อยๆ ลดขนาดยาชนิดแรกลงจนหมด พร้อมเพิ่มยาตัวที่สอง ถ้าได้ผล ให้คงขนาดยาชนิดที่สองไว้ เป็นเวลามากกว่า 2 ปี (ไม่ตอบสนองต่อยา : คือไม่หายชักหมดหรือมีอาการข้างเคียงจากยา)
ค) Polytherapy
          ยาชนิดที่คุมชักได้บางส่วน หรือคุมได้หมดแต่ทนอาการข้างเคียงไม่ได้ให้ลดขนาดยาลงมา แล้วคงไว้ในขนาดที่ไม่เกิดอาการข้างเคียง พร้อมเริ่มยาชนิดต่อไป ค่อยๆ เพิ่มจนคุมชักได้หมด ถ้าได้ผลให้ใช้ร่วมกัน (ตอบสนองบางส่วน : คือคุมอาการชักได้บ้างแต่ไม่หายชักหมด หรือเกิดอาการข้างเคียง ทำให้เพิ่มยาขึ้นไปอีกไม่ได้ หรือเมื่อลดยาลงแล้วเกิดอาการชักมากขึ้น)
หมายเหตุ : ไม่ควรเปลี่ยนแปลงชนิดและขนาดยากันชัก เมื่อคุมอาการชักได้แล้ว การลดหรือหยุดยาก่อนเวลาอันควร อาจทำให้ชักกำเริบรุนแรงขึ้นได้
    
                  ผลการรักษาด้วยยากันชัก Outcomes of Medication Treatment
ผลการปรับยากันชักอย่างเหมาะสม :
        ?   ทำให้หายชักหมดได้ประมาณ 70%
        ?   สามารถหยุดยาได้ภายหลังประมาณ 45%

ผู้ป่วยที่ไม่หายชักหมดด้วยยา (ดื้อยา หรือ Medically intractable epilepsy) ประมาณ 30%
ภาวะดื้อยาเทียม คือภาวะที่ยังหายชักได้ ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสม (ยังไม่จัดว่าดื้อยาอย่างแท้จริง) ได้แก่
         ?   วินิจฉัยผิดว่าอาการคล้ายชักเป็นโรคลมชัก ทำให้ใช้ยากันชักโดยไม่จำเป็น จึงไม่ได้ผล
         ?   ยังมีปัจจัยกระตุ้นการชักอยู่
         ?   รับประทานยากันชักไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ถูกต้อง เช่น ลดยาเอง
         ?   มีสิ่งกินที่ในสมองที่เป็นสาเหตุโรคลมชักซ่อนอยู่ เช่น เนื้องอกขนาดใหญ่ ซึ่งต้องรักษาสาเหตุนั้นโดยตรง
         ?   ยังไม่ได้รับการปรับขนาดและชนิดยากันชักที่เหมาะสม

                                  การดื้อยาแท้จริง
คือ ภาวะที่ผู้ป่วยยังไม่หายชัก แม้จะได้รับการปรับยากันชักที่เหมาะสมมากกว่า 2-3 ชนิดขึ้นไป ในขนาดที่สูงพอ เป็นเวลานานพอ โดยประเมินการหายชักอย่างเชื่อถือได้
ผู้ป่วยที่ดื้อยาแท้จริง จำเป็นต้องได้รับการประเมินเพื่อผ่าตัดโรคลมชัก เพื่อมีโอกาสหายขาด เพราะการรับประทานยาหรือปรับยาต่อไป โอกาสปลอดชักน้อยกว่า 10%

:-* :-* :-* :-* :-* :-* :-*

ออฟไลน์ popja

  • Administrator
  • จอมพลัง
  • *****
  • กระทู้: 871
  • น้องวินลูกพ่อป๊อปแม่โบว์
    • แบ่งปันความรู้โรคลมชัก
Re: ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2010 เวลา 20:22 น. »
ลักษณะอาการชัก


        เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับโรคลมชัก ให้คิดว่าสมองของเราเป็นเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ มีเซลส์สมองซึ่งเชื่อมโยงติดต่อกันเหมือนวงจรไฟฟ้า ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างสมบูรณ์ แต่บางทีการทำงานของเซลส์สมอง ก็ผิดปรกติ มีผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่รุนแรงขึ้น จนเกิดเป็นอาการชักให้เห็นออกมาทางร่างกาย
          อาการชัก เกิดเมื่อสมองได้รับผลกระทบจากกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น อย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างผิดปรกตินั้น อาการที่เกิดแต่ละครั้งนั้น เราเรียกว่า "อาการชัก" แต่หากอาการชักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในคนหนึ่ง ๆ เราเรียกว่าเขาเป็น"โรคลมชัก"
          ถ้ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น รบกวนสมองเป็นบางส่วน เราเรียกว่า "อาการชักเฉพาะส่วน" (Partial Seizure)ที่พบกันบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการชักแบบทำอะไรไม่รู้ตัว หรือ อาการลมชะงัก (Complex Partial Seizure)คนที่ชักแบบนี้ อาจจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ สับสน เห็นภาพหลอน หรือหูแว่ว จากนั้นผู้ป่วยอาจคลำตามเสื้อผ้า เคลื่อนไหวแขนขาอย่างไร้จุดหมายอย่างไม่รู้ตัว โดยไม่รับรู้สิ่งรอบข้าง และเมื่อหายแล้ว เขาจะจำเหตุการณ์ระหว่างนั้นไม่ได้ บ่อยครั้งอาการชักแบบนี้ จึงถูกเข้าใจผิดว่าเกิดจากอาการทางจิตหรือทางไสยศาสตร์อะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่           อีกรูปแบบหนึ่งของอาการชักเฉพาะส่วน ผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัวดี เรียกว่า อาการชักเฉพาะที่ (Simple Partial Seizure) กระแสไฟฟ้าที่ผิดปรกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อสักแห่งหนึ่งของร่างกาย เป็นต้นว่า แขนขวา ในระหว่างการชัก แขนข้างขวาก็อาจจะแข็งเกร็งหรือกระตุก หรือเคลื่อนไหวอย่างไม่สามารถควบคุมได้ โดยที่กล้ามเนื้อส่วนอื่นจะอยู่เป็นปรกติ บางครั้งกระแสไฟฟ้าก็รบกวนสมองส่วนที่ควบคุม หน้าที่หลักของการดำรงชีพ ซึ่งทำงานอยู่เป็นอัตโนมัติ ผลก็คือผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้องจากการทำงานของระบบทางเดินอาหารที่มากเกินไป หรือมีหัวใจเต้นผิดปรกติในขณะชัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าส่วนใดของสมองถูกรบกวน
          ถ้าหากกระแสไฟฟ้าที่ผิดปรกติรบกวนการทำงานของสมองทั้งหมด ก็จะเกิดอาการชักที่เรียกว่า "อาการชักทั่วทุกส่วน" ( Generalized Seizure ) ชนิดที่พบกันบ่อย ๆ และรู้จักกันดีก็คือ อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า "ลมบ้าหมู" ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม อาการชักชนิดนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนมากรู้จักเมื่อพูดถึงโรคลมชัก
          คนที่เป็นลมบ้าหมูจะสูญเสียการรู้สึกตัวทันทีและล้มลง กล้ามเนื้อจะแข็งเกร็งทั่วทั้งตัว จากนั้นจะเริ่มกระตุกซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 นาที แต่คนส่วนมากจะรู้สึกว่ามันนานเหลือเกิน หลังจากนั้นก็จะหยุด ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยก็จะฟื้นและกลับมาทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ต่อไป หลังจากได้พักสักระยะหนึ่ง
          อีกแบบหนึ่งของอาการชักทั่วทุกส่วน ก็คือที่เรียกว่า อาการชักแบบเหม่อนิ่ง (Absence Seizure) อาการชักชนิดนี้ เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นมากจนแทบไม่เป็นที่สังเกต ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายเป็นระยะเวลาสั้นๆ คล้ายกับกำลังเหม่อ แล้วกลับมาทำสิ่งที่ค้างอยู่ต่อไป โดยไม่มีการเคลื่อนไหวแขนขาแต่อย่างใดเลย อาการชักแบบเหม่อนิ่งมักจะนานเป็นเพียง 2-3 วินาที ผู้ป่วยจะหมดการรับรู้สิ่งรอบข้างในช่วงระยะเวลานั้น แต่อาจจะเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นชุด ๆ ได้ตลอดวัน ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา
          

  
สาเหตุของการเกิดโรคลมชัก ที่เข้าใจง่ายกว่า


เราทราบเพียงว่า โรคลมชักเกิดเพราะมีคลื่นไฟฟ้าปล่อยออกมาจากเซลส์สมองอย่างมากผิดปรกติ แต่บ่อยครั้งที่ยากจะบอกว่าอะไรเป็นต้นเหตุ บางทีก็ไม่มีคำอธิบายว่าโรคลมชักทำไมจึงเกิดกับคนนั้นคนนี้ นอกจากในบางสาเหตุ เช่น เกิดตามหลังอุบัติเหตุต่อสมอง เกิดระหว่างการคลอด จากโรคภัยไข้เจ็บในวัยเด็ก หรือเกิดเพราะความไม่สบายในระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้อาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง หรือโรคเส้นเลือดสมองตีบตันหรือแตก บางครั้งกรรมพันธุ์ก็อาจจะเป็นสาเหตุได้ในผู้ป่วยบางคน
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถจะหาสาเหตุของโรคลมชักได้ แม้ว่าแพทย์จะได้ทำการตรวจโดยละเอียดแล้ว ในกลุ่มนี้เราเรียกว่า โรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Epilepsy) ซึ่งหมายความว่าสาเหตุของโรคยังอาจตรวจไม่พบด้วยวิทยาการที่ทันสมัยที่สุด ที่จะเป็นไปได้ในปัจจุบัน

  
 
อาการชักในแบบต่าง ๆ


อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) (Generalized Tonic-Clonic Seizures : GTC)
     อาการที่เกิดขึ้น
         ระยะเกร็ง (Tonic Phase)
หมดสติอย่างรวดเร็ว
ล้มลง
อาจส่งเสียงโดยไม่ตั้งใจ
มีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟัน
หยุดหายใจชั่วคราว
ระยะกระตุก (Clonic Phase)
มีอาการกระตุกแขนขาติดต่อกัน
อาจมีการกัดลิ้น หรือกัดกระพุ้งแก้ม
น้ำลายไหลเป็นฟอง
หยุดหายใจ 2-3 นาที (ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเขียว)
ระยะเวลาของการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว มักนาน 1-3 นาที
              ระยะหลังชัก ( Postictal Phase)
เริ่มหายใจเอง
เริ่มรู้สึกตัว
มีอาการสับสนชั่วคราว อ่อนเพลีย หรือนอนหลับ
มีอาการอาเจียน อุจจาระหรือปัสสาวะราด
         การปฐมพยาบาล
ไม่งัดหรือใส่ของแข็งเข้าไปในปาก
การพยายามที่จะงักขากรรไกรที่เกร็งแน่น และใส่ของแข็งเข้าไประหว่างฟันขณะชัก อาจจะทำให้ช่องปากผู้ป่วยบาดเจ็บ ควรใช้ผ้าหรือของนุ่มๆให้ผู้ป่วยกัดจะดีกว่า
ป้องกันการบาดเจ็บ
พยายามป้องกันการกระแทกจากการล้ม จับให้ผู้ป่วยนอนลงในท่าตะแคงตัว เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง การเปลี่ยนท่าผู้ป่วยควรทำโดยการผลักลำตัว มิใช่การดึงแขนเพราะอาจทำให้ไหล่หลุดได้ ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก คลายเสื้อผ้าให้หลวม ให้ผู้ป่วยหนุนหมอนหรือสิ่งของนุ่มๆ เคลื่อนย้ายข้าวของที่อยู่รอบบริเวณผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยใส่ฟันปลอม ควรถอดฟันปลอมออกถ้าทำได้
ไม่ควรผูกมัดหรือต่อสู้กับคนไข้
อาการชักเมื่อเกิดขึ้นจะหยุดไปได้เอง การผูกมัดหรือขัดขวางอาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บ
ไม่ควรละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปตามผู้อื่น
ควรอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยอุ่นใจเมื่อฟื้นขึ้นมา
ช่วยเหลือการหายใจ
ถ้าผู้ป่วยนอนหงาย หลังหยุดชักควรให้ผู้ป่วยนอนตะแคง จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งปกติ เพราะขณะที่ชักลิ้นอาจจะตกไปปิดช่องทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังช่วยให้น้ำลายที่ค้างในกระพุ้งแก้มไหลออกมาได้
ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานระหว่างการชักหรือหลังชักใหม่ๆ เนื่องจากการรับประทานอาจทำให้สำลักได้

อาการชักแบบทำอะไรไม่รู้ตัว(Complex Partial Seizures, Psychomotor : Temporal Lobe Seizures CPS)
       อาการที่เกิดขึ้น
    มีอาการหยุดสิ่งที่ทำอยู่พร้อมกับสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัว  อาจมีการเคลื่อนไหวแบบไร้จุดหมาย โดยไม่รู้ตัว เช่น เดินไปเดินมา ถูมือไปมา แกะหรือจับเสื้อผ้า คลำสิ่งของ ดูดริมฝีปาก หรือเคี้ยว พูดคำซ้ำๆ เป็นต้น  อาจมีอาการคล้ายล่องลอยไป หรือคล้ายคนเสียสติ  ถ้าจับหรือมัดอาจมีการต่อสู้ดิ้นรน อาการต่างๆมักเกิดนาน 2-4 นาที  อาจเกิดอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวตามมาได้
             การปฐมพยาบาล
อยู่กับผู้ป่วยและคอยกันผู้ป่วยจากอันตรายต่างๆ  ไม่พยายามขัดขวางการเคลื่อนไหว เพราะผู้ป่วยจะยิ่งต่อสู้
ติดตามผู้ป่วยจนอาการชักผ่านพ้นไป คอยจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวเต็มที่ ถ้าผู้ป่วยหลับปล่อยให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จนกว่าจะเป็นปกติ

                     อาการชักแบบเหม่อ (Absence Seizures Petit Mal)

       อาการที่เกิดขึ้น
  อาการชักชนิดนี้สั้นมาก เกิดขึ้นทันทีและหายไปอย่างรวดเร็ว  ผู้ป่วยจะเหม่อนิ่งประมาณ 5-10 วินาที บ่อยครั้งที่ถูกเข้าใจผิดว่ากำลังใจลอย  อาจจะมีอาการตาค้าง กระพริบตา หรือกระตุกบนใบหน้า ผู้ป่วยมักไม่ล้ม แต่จะหยุดค้างในท่าเดิม  ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น  ส่วนมากมกพบในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6-14 ปี
     การปฐมพยาบาล
ขณะผู้ป่วยกำลงเหม่อนิ่ง อาจลองนับเลขหรือเรียกชื่อสิ่งของให้ผู้ป่วยจำ แล้วถามภายหลังเมื่อผู้ป่วยหาย ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักชนิดนี้ ผู้ป่วยจะบอกไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องให้การปฐมพยาบาล แต่อาการชักชนิดนี้ จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ


    การผ่าตัดโรคลมชัก



      ในปัจจุบัน การผ่าตัดสมอง ผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื้อยา (medically intractable epilepsy) สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคลมชักได้ โดยไม่มีผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ทั้งยังสามารถช่วยลดปัญหาทางจิตสังคมของผู้ป่วยจากโรคลมชักเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นคนปกติ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มการรักษาแต่เนิ่น ๆ
           หลักการผ่าตัดโรคลมชัก
     เป้าหมายก็คือ สามารถผ่าตัดสมองบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดของการชัก (epileptogenic zone) และ/หรือ ผ่าตัดรอยโรคที่เป็นสาเหตุออก แล้วทำให้ผู้ป่วยหายชักอย่างถาวร (seizure free) โดยไม่มีผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงจากการผ่าตัด ยังผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          ข้อแตกต่างระหว่างการผ่าตัดโรคลมชัก (Epilepsy Surgery) กับ การผ่าตัดสมองทั่วไป (General Neurosurgery)
    การผ่าตัดสมองทั่วไป โดยมากมุ่งผ่าส่วนที่เห็นเป็นรอยโรคที่ผิดปรกติเป็นหลัก แต่การผ่าตัดโรคลมชัก เป็นการผ่าตัดสมองส่วนที่ทำหน้าที่ผิดปรกติ ซึ่งปล่อยไฟฟ้าของการชักออกมา (epileptic discharge) โดยอาจเห็นหรือไม่เห็นเป็นรอยโรคก็ได้
    การผ่าตัดโรคลมชัก มุ่งรักษาผู้ป่วยให้หายขาดจากการชักเป็นหลัก โดยผู้ป่วยโรคลมชักมักไม่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วยในเวลาที่ไม่ชักแต่การผ่าตัดสมองทั่วไป มักเป็นการพยายามรักษา หรือหยุด อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นแล้ว จากรอยโรคในสมอง
     ในการผ่าตัดโรคลมชัก แพทย์จะทำการตรวจเพื่อป้องกันการสูญเสียหน้าที่ของสมองตั้งแต่ก่อนผ่าตัด โดยใช้เทคนิคที่ทันสมัยต่าง ๆ ประเมินหน้าที่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการชัก อย่างเป็นขั้นตอนโดยละเอียด ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะหายชักแล้ว ยังต้องไม่เกิดความสูญเสียหน้าที่สมองจากการผ่าตัดเลย หรือมีให้น้อยที่สุด
ในการผ่าตัดโรคลมชัก แพทย์สามารถทำนายผลการผ่าตัด (surgical outcome) ได้ตั้งแต่ก่อนผ่า ด้วยการตรวจต่างๆ ตามขั้นตอน แล้วประชุมแพทย์ เพื่อร่วมกันพิจารณาว่า ผู้ป่วนรายนั้นๆ จะมีโอกาสหายชักได้มากน้อยเพียงใด ผู้ป่วยกลุ่มที่สัมฤทธิ์ผลโดยการผ่าตัด จะมีโอกาสหายชัก 90-100%
การผ่าตัดโรคลมชัก เป็นการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินรีบด่วน นอกจากจะพิจารณาจากโรคลมชักของผู้ป่วยแล้ว ยังทำหลังการประเมินผู้ป่วยเป็นอย่างดี เพื่อหากลุ่มที่ผ่าแล้วจะหายขาดจากการชัก หากการตรวจในชั้นต้น ยังไม่สามารถวินิจฉัยจุดที่จะผ่าตัดได้แน่นอน ก็จะเพิ่มการตรวจที่ละเอียดต่อไป จนกว่าจะพบจุดที่ปล่อยไฟฟ้าของการชัก ซึ่งผ่าแล้วมีโอกาสหายขาดมากที่สุด

             ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดโรคลมชัก
โรคลมชักของผู้ป่วย ต้องดื้อยากันชักแล้ว อย่างแท้จริง (medically intractable epilepsy) หลังผ่านยากันชักต่าง ๆ มาเกือบทุกชนิดที่มีในประเทศไทย และหลังได้รับการปรับยาจากแพทย์ผู้ชำนาญอย่างเต็มที่
เป็นโรคลมชักชนิดที่เกิดจากการมีจุดปล่อยไฟฟ้าที่ผิดปรกติเพียงจุดเดียวในสมอง ( single epileptogenic zone )  จุดกำเนิดชักที่จะผ่าตัดออก ต้องไม่อยู่บริเวณสมองที่ทำหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ ภาษา ความจำ การเคลื่อนไหว การรับความรู้สึกต่าง ๆ กล่าวคือ เมื่อผ่าตัดออกแล้ว จะต้องไม่เกิดการสูญเสียหน้าที่ใด ๆ ไปจากเดิม  ผู้ป่วยควรมีระดับสติปัญญา และสภาพจิตที่ปรกติ ซึ่งเมื่อผ่าตัดหายจากโรคลมชักแล้ว สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม  ผู้ป่วย หรือผู้ปกครอง (กรณีเด็ก) ให้ความร่วมมือกับการตรวจต่าง ๆ และต้องการรักษาด้วยการผ่าตัด

           ข้อห้ามของการผ่าตัดโรคลมชัก
    โรคลมชักที่มีจุดกำเนิดชักชนิดกระจายทั่วทั้งสมองหรือเป็นทั้งสองข้าง หรือมีหลายจุด ( generalized, bilateral or multifocal epileptogenic zone)  โรคลมชักชนิดที่ไม่ร้ายแรง หรือหายได้เองเมื่อโตขึ้น ได้แก่ idiopathic generalized epilepsy และ idiopathic benign partial epilepsy บางชนิด
โรคลมชักที่เกิดจากความผิดปรกติทางเมตาบอลิกของสมอง โรคลมชักที่ร่วมกับสมองเสื่อม หรือที่ลุกลามไปเรื่อยๆ มีข้อยกเว้นในโรคสมองอักเสบชนิด Rasmussen's Encephalitis ที่การผ่าตัดสามารถช่วยลดอาการชักได้ มีอาการทางจิตที่ร้ายแรง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆไป เพราะบางรายอาการทางจิตดีขึ้น หลังหายจากการชัก สติปัญญาด้อยกว่าปกติ(mental retard) มีข้อยกเว้นในรายที่ทำการผ่าตัดทุเลาอาการล้มโดยวิธี callosotomy หรือในรายที่ระบุจุดกำเนิดชักได้ชัดเจน

           เวลาที่เหมาะสมของการผ่าตัด(Timing)
       การผ่าตัดโรคลมชัก จะทำแต่เนิ่นๆ เมื่อผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ โดยไม่ทิ้งผู้ป่วยที่ดื้อยาไว้นานเกินไป เพื่อป้องกันผลกระทบอย่างถาวรจากโรคลมชักเรื้อรัง ได้แก่ การพัฒนาการทางสมองในเด็ก ปัญหาทางจิต ความจำ พฤติกรรม การเรียน การทำงาน และการปรับตัวในสังคม มีการศึกษาหลายอันที่สอดคล้องกัน บ่งบอกว่า หากระยะเวลาของการเป็นโรคลมชักยิ่งสั้น ผลของการผ่าตัดจะยิ่งดี
 
 
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2010 เวลา 20:27 น. โดย popja »
สู้สู้

ออฟไลน์ sacorn

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 5
Re: ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2014 เวลา 18:15 น. »
เรียนปรึกษาคุณพี่popja ครับ รพ.ไหนครับที่รักษาด้วยการผ่าตัดครับที่เก่งๆครับอยากให้ลูกหายจากอาการเกร็งตัวครับ

 


Powered by EzPortal