เชิญร่วมงาน รวมพลังสายใย...เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลมชัก วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.62 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 รพ.พระมงกุฎเกล้า

เชิญร่วมงาน รวมพลังสายใย...เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลมชัก วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.62 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 รพ.พระมงกุฎเกล้า 

 

ผู้เขียน หัวข้อ: โรคลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)  (อ่าน 4393 ครั้ง)

ออฟไลน์ NONG

  • Shoutbox
  • Hero Member
  • *
  • กระทู้: 1,451
โรคลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)
« เมื่อ: วันอังคารที่ 09 เมษายน 2013 เวลา 14:15 น. »
บทนำ

โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งหญิงวัยเจริญพันธุ์ การดู แลผู้หญิงที่มีอาการโรคลมชักนั้นต้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเฉพาะเพิ่มเติมจากผู้ชายที่มีอา การโรคลมชัก เพราะต้องคำนึงถึง
          ผลของโรคลมชักต่อการตั้งครรภ์ 
          ผลของการรักษาด้วยยากันชักต่อทารกในครรภ์
          และผลของการตั้งครรภ์ต่ออาการชัก

นอกจากนี้ในปัจจุบันยากันชักยังสามารถนำมาใช้รักษาอาการปวดจากระบบประสาท และอาการทางสุขภาพจิตได้ด้วย บทความนี้จะสรุปเป็นประเด็นคำถามต่างๆที่พบบ่อย และยังมีความเข้า ใจที่ไม่ถูกต้องในโรคลมชักในผู้หญิง ดังนี้

ผู้ป่วยหญิงโรคลมชักมีโอกาสตั้งครรภ์ต่างจากผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรคลมชักหรือไม่?

คำถามนี้เป็นคำถามที่พบบ่อยที่สุด คือ ผู้หญิงที่มีอาการชักหรือที่ทานยากันชักนั้นสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่า ผู้ป่วยโรคลมชักไม่สามารถแต่งงาน หรือไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น หรือไม่สา มารถตั้งครรภ์ได้ เพราะทารกอาจมีความพิการแต่กำเนิดได้
จากหลายการศึกษาพบว่า โอกาสที่ผู้ป่วยหญิงโรคลมชักตั้งครรภ์ จะต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป อาจเนื่องจากโอกาสแต่งงานต่ำ เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยโรคลมชัก โดยครอบครัวมักไม่อนุญาตให้สมาชิกในครอบครัวแต่งงานกับผู้ป่วยโรคลมชัก โรคลมชักที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ การรับประทานยากันชักก็ส่งผลต่อโอกาสการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์อาจใช้ยากันชักเพื่อรักษาโรคอื่นๆ เช่น รักษาอาการปวดจากระบบประสาท หรือปวดศีรษะไมเกรน ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้ยากันชักต้องมีข้อระวังเป็นพิเศษ เพราะผลของยากันชักต่อทารกในครรภ์ ก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดได้สูงประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับทารกที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้รับประทานยากันชัก กล่าวคือ การคลอดปกติทั่วไป ทารกที่เกิดมีโอกาสพบความพิการแต่กำเนิดประมาณ 2-3% ในกรณีที่ทารกเกิดจากแม่ที่ทานยากันชัก พบความพิการแต่กำเนิดประ มาณ 4-6% และยิ่งมีโอกาสสูงมากขึ้นกรณีที่ใช้ยากันชักหลายชนิดร่วมกัน
ผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนคนปกติ เพียงแต่ในกรณีผู้หญิงที่ทานยากันชักนั้น ต้องมีการวางแผนครอบครัวที่ดีว่าต้องการตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าต้องการมีบุตร/ตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาโรคลมชักทราบ เพื่อจะได้แนะนำเกี่ยวกับผล กระทบระหว่าง โรค ยาที่บริโภค และการตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อการควบคุมอาการชักหรือไม่? อย่างไร?

เมื่อผู้ป่วยโรคลมชักตั้งครรภ์จะพบว่า อาการชักส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยจากการศึก ษาผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ 1,736 ราย พบว่า 60% ควบคุมการชักได้เป็นอย่างดี และจากการศึกษาอื่นๆ 15-30% ที่พบว่าการชักควบคุมได้ไม่ดี ทั้งนี้ สาเหตุที่มีการชักบ่อยขึ้นในระหว่างการตั้ง ครรภ์ เนื่องมาจาก
    ความสม่ำเสมอในการทานยากันชักลดลง เนื่องมาจากความกังวลใจของผู้ป่วยว่า ยาที่รับประทานอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติได้ ประกอบกับมีอาการแพ้ท้อง อาเจียน
    การเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญยา กำจัดยาออกจากร่างกาย และ รวมทั้งปริ มาณการไหลเวียนเลือดในหญิงตั้งครรภ์
    การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์
    การพักผ่อนไม่เพียงพอจากการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความเครียดทั้งทางกายและจิตใจ ช่วงเวลาขณะคลอดก็มีโอกาสชักสูงขึ้น 2-5%
    น้ำหนักตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ส่งผลต่อการควบคุมอาการชักบ้างแต่ไม่มาก กล่าวคือ เมื่อมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อการกระจายตัวของยาและปริ มาณยาต่อน้ำหนักตัวบ้าง โดยแพทย์จะติดตามระดับยากันชักเป็นระยะๆ เพื่อให้ทราบว่ามีการเปลี่ยนแลงในภาพรวมอย่างไร แต่ถ้าไม่มีอาการชักเกิดขึ้น หรือระดับยาไม่ทำให้เกิดผลข้าง เคียงจากยา แพทย์ก็จะไม่มีการปรับเปลี่ยนขนาดยากันชัก
ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีความเข้าใจถูกต้องและตั้งใจอย่างดีในการรับประทานยากันชัก พักผ่อนให้เพียงพอ ก็สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปกติ

โรคลมชักมีผลอย่างไรต่อการตั้งครรภ์?

ผลของโรคลมชักต่อการตั้งครรภ์ ต้องมองให้ครบทั้งผลต่อทารกในครรภ์ และผลต่อการคลอด โดยทั่วไปแล้ว ผลกระทบของโรคลมชักต่อการตั้งครรภ์นั้นมีไม่มาก เช่น การคลอดก่อนกำหนด ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือรกลอก และการชักขณะคลอด
การพิจารณาวิธีการคลอดนั้น ทำเช่นเดียวกับการคลอดปกติทั่วไป การคลอดด้วยวิธีพิ เศษ เช่น ผ่าตัดคลอด มีข้อบ่งชี้เช่นเดียวกับหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป ยกเว้นถ้าเกิดการชักขณะกำลังคลอดนั้น ต้องพิจารณาช่วยคลอดให้เร็วขึ้น ที่สำคัญต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าการเป็นโรคลม ชัก ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอด
ผลของโรคลมชักต่อทารกในครรภ์นั้น ก็มีผลน้อยมาก โดยบางการศึกษาพบว่าทารกจะมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าทารกที่คลอดจากแม่ที่ไม่เป็นโรคลมชัก

ยากันชักมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร?

ยากันชักมีผลต่อทารก 2 ด้าน ได้แก่
    ด้านความจำและความสามารถด้านการเรียนรู้ และ
    ความพิการแต่กำเนิด โดยพบว่าโอกาสการเกิดพิการแต่กำเนิดประมาณ 2-3 เท่าของทารกที่คลอดจากแม่ที่ไม่ได้รับประทานยากันชัก ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดการพิการแต่กำเนิด ได้แก่ ชนิดของยากันชัก จำนวนยากันชักว่าใช้กี่ชนิด และขนาดของยากันชัก รูปแบบของพิการแต่กำเนิด ขึ้นกับชนิดของยา เช่น
        ความพิการแต่กำเนิดของไขสันหลังและสมองพบในยากันชัก คาร์บามาซีปีน (Carbamaze pine) และวาวโปอิค (Valproic acid)
        ส่วนภาวะปากแหว่งเพดานโหว่พบในยากันชักลาโมทริจีน (Lamotrigine)

จากการรวบรวมข้อมูลของการศึกษาถึงผลของยากันชักต่อการเกิดความพิการแต่กำเนิด ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงผลการเกิดความพิการแต่กำเนิดจากยากันชัก
ยากันชัก    จำนวนการตั้งครรภ์    จำนวนพิการแต่กำเนิด
ราย    %
วาวโปอิค (Valproic acid)    1,395    114    8.17
คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)    3,281    91    2.77
ลาโมทริจีน (Lamotrigine)    2,660    59    2.22
ฟีโนบาร์บิทอล (Phenobarbital)    77    5    6.50

อย่างไรก็ตามถ้าขนาดยากันชักไม่สูง โอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดก็ไม่ต่างกันระ หว่างยากันชักชนิดต่างๆ เช่น วาวโปอิคขนาด 800 ? 100 มก./วัน พบว่าไม่มีผลต่อทารกในครรภ์มากกว่ายากันชักชนิดอื่นๆ
ส่วนผลต่อความจำและความสามารถด้านการเรียนรู้นั้น ข้อมูลที่มีรายงานในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยากันชักในผู้ป่วยหญิงโรคลมชัก แพทย์จึงใช้ขนาดต่ำที่สุดที่สา มารถควบคุมอาการได้ และมักเป็นการใช้ยากันชักเพียงชนิดเดียว ร่วมกับควรแนะนำในการวาง แผนครอบครัวต่อผู้ป่วยหญิงเพื่อการวางแผนในการรักษาให้ดีที่สุด

ผู้ป่วยหญิงโรคลมชักควรปรึกษาแพทย์ในประเด็นใดบ้าง?

ประเด็นต่างๆที่ผู้ป่วยและครอบครัวควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์ผู้รักษา ประกอบด้วย
    การวางแผนครอบครัว วิธีการคุมกำเนิดวิธีต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนคุม กำเนิด เพราะยากันชักจะมีปฏิกิริยากับฮอร์โมนคุมกำเนิด ส่งผลให้ยากันชักและฮอร์โมนคุมกำ เนิดมีระดับลดลงทั้งคู่ ทำให้มีโอกาสชักได้ง่ายขึ้น และการคุมกำเนิดไม่ได้ผล การคุมกำเนิดที่เหมาะสมที่สุดคือ การใช้ถุงยางอนามัยในผู้ชาย และถ้าจะตั้งครรภ์ ควรต้องควบคุมการชักให้ได้ดีก่อนนานอย่างน้อย 1 ปี ดีที่สุดคือคุมอาการชักได้นานอย่างน้อย 2 ปี และค่อยๆหยุดยากันชักได้ หรือใช้ยากันชักในขนาดต่ำที่สุด ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนการตั้งครรภ์เสมอ เพื่อการดูแลตนเอง และทารกในครรภ์ที่ถูกต้อง ทั้งนี้ โอกาสที่บุตรจะเป็นโรคลมชัก มีโอกาสต่ำมากๆ
    การควบคุมอาการชัก ส่วนใหญ่แล้วการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการควบคุมอาการชัก
    การตั้งครรภ์และการคลอด ซึ่งเหมือนปกติกับหญิงตั้งครรภ์ทั่วๆไป ไม่มีความจำ เป็นต้องผ่าตัดคลอด แต่ต้องฝากครรภ์อย่างใกล้ชิดมากกว่าการตั้งครรภ์ทั่วไป
    ผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ถ้าเกิดการชักขณะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยหญิงโรคลมชักอาจรับ ประทานยาไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากกลัวผลกระทบของยากันชักต่อทารกในครรภ์ ต้องอธิบายให้หญิงตั้งครรภ์ทราบถึงความจำเป็นของการทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ และข้อเสียของการชัก เช่น อาจก่อให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน หรือมารดาล้มลงทำให้เกิดอุบัติเหตุและแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนดได้
    ผลของยากันชักต่อทารกในครรภ์ ดังที่กล่าวแล้วในหัวข้อ ผลของยากันชักต่อทา รกในครรภ์
    การตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ก่อนคลอด ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจหาระดับสาร อัลฟ่าฟีโตโปรตีน (Alpha-fetroprotein) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งก็มีข้อจำกัดถึงความแม่นยำ และไม่สามารถตรวจได้ทุกโรงพยาบาล
    การทานยากันชัก ซึ่งต้องมีความสม่ำเสมอ ใช้ยากันชักน้อยชนิด ขนาดต่ำสุด และอาจต้องตรวจวัดระดับยากันชักเป็นระยะๆ
    การวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะจะลดโอกาสการเสี่ยงทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ เพื่อแพทย์จะได้วางแผนการรักษาได้ถูกต้อง รวมทั้งการให้รับประ ทานกรดโฟลิก (Folic acid) 5 มก./วัน ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันความพิการทางสมองและไขสันหลังของทารกในครรภ์
    จำนวนครั้งการตั้งครรภ์ และระยะห่างของแต่ละครรภ์ในผู้ป่วยที่ทานยากันชักนั้น สามารถตั้งครรภ์ได้ตามที่ต้องการ ถ้าไม่มีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและบุตร ขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว
    การดูแลตนเองระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่สำคัญ คือ ต้องฝากครรภ์อย่างสม่ำ เสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ทานยาให้ครบถ้วน และถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นก็ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
    การดูแลตนเองหลังคลอดเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แตกต่างกับระหว่างตั้งครรภ์ เพราะต้องเลี้ยงลูกและให้นมบุตร ซึ่งแม่จะเหนื่อยมาก และอาจชักได้ ดังนั้นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานยาให้ครบถ้วน และต้องระวังขณะให้นมลูก ไม่นอนหลับทับลูก หรือ ชักขณะให้นมลูก

การตั้งครรภ์ส่งผลต่อระดับยากันชักหรือไม่?

ขณะตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลต่อระดับยากันชัก ดังนี้

    เพิ่มการขจัดออกของยา เช่น ทางไต ประสิทธิภาพของยาจึงลดลง
    การดูดซึมยาลดลง และทานยาได้ปริมาณยาลดลง เนื่องจากมีอาเจียนบ่อยๆ
    การเพิ่มขึ้นของปริมาณเลือด/น้ำเลือด
    การจับของยากับโปรตีนในเลือดลดลง
    ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของยากันชักส่วนที่เป็นตัวออกฤทธิ์ ประสิทธิภาพยาจึงอาจลดลง

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการของหญิงตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพราะอาจเกิดชักได้ง่ายขึ้น ถ้าระดับยากันชักลดลง หรือเกิดภาวะยาเป็นพิษ/ผลข้างเคียงจากยาได้ ซึ่งถ้าสามารถตรวจวัดระดับยากันชักได้ โดยเฉพาะปริมาณของยากันชัก ก็จะช่วยควบคุมการใช้ยากันชักได้ดีขึ้น

การคลอดและการให้นมบุตรทำได้เป็นปกติหรือไม่?

หญิงโรคลมชัก ตั้งครรภ์ได้ตามปกติ และสามารถคลอดได้ด้วยวิธีการคลอดทางช่องคลอด/วิธีปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้วิธีช่วยคลอดพิเศษใดๆ รวมทั้งการผ่าคลอด ยกเว้น เมื่อมีอาการชักขณะคลอด และสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ เพราะยากันชักผ่านออกมาทางน้ำ นมเป็นปริมาณต่ำมาก อย่างไรก็ตามขณะให้นมบุตรต้องระวังไม่ให้บุตรหล่นจากมือหรือนอนทับบุตรตนเองได้ เนื่องจากการเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียมากจะเป็นตัวกระตุ้นให้ชักได้ จึงแนะนำว่าห้ามให้นมในท่านอนเพราะถ้ามีอาการชักหรือเหนื่อยเผลอหลับไป อาจนอนทับลูกได้ การให้นมท่าที่เหมาะสม คือ การให้ในท่านั่งและมีโต๊ะรองร่วมกับมีคนอื่นอยู่เป็นเพื่อนด้วย เพราะถ้ามีอา การชักจะได้ช่วยได้ทันและลูกก็ปลอดภัย ระยะเวลาการให้นมบุตรสามารถให้ได้เหมือนแม่ทั่ว ไป เช่น 6 เดือน เป็นต้น ไม่มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาใดๆ

หญิงตั้งครรภ์โรคลมชักควรดูแลตนเองอย่างไร?

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ

    ต้องทานยากันชักต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยากันชักโดยเด็ดขาด
    ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลทั้งที่รักษาโรคลมชัก และสูติแพทย์ให้ถูกต้อง
    หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดการชักขณะตั้งครรภ์
    นัดตรวจฝากครรภ์กับสูติ-นรีแพทย์ อายุรแพทย์ และ/หรือทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลรักษาเรื่องโรคลมชักอย่างใกล้ชิดทุก 1 เดือน
    ไม่ควรฝากครรภ์ที่คลินิกแพทย์ส่วนตัว ควรเข้ามาฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมจะดีกว่า
    ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ก่อนคลอด
    ปฏิบัติตามเมื่อแพทย์แนะนำการตรวจวัดระดับยาและปรับขนาดยากันชักถ้ายังควบคุมอาการชักไม่ได้ หรือระดับยากันชักสูงเกินระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ให้มั่นใจว่าสามารถตั้งครรภ์และสามารถคลอดบุตรได้ตามปกติ ซึ่งประมาณ 95% ของบุตรที่คลอดจะปกติดี
การปฏิบัติตัวด้านอื่นๆก็เหมือนกับแม่ที่ตั้งครรภ์ทั่วไป แต่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรอดนอน ห้ามขาดยากันชัก กรณีที่มีอาการผิดปกติทั้งแม่ที่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เช่น แม่มีอาการชักบ่อยครั้ง หรือการชักแต่ละครั้งชักนานมากกว่าเดิม ล้มลงกับพื้นขณะชัก และ/หรือได้ รับอุบัติเหตุจากการชัก หรือทารกในครรภ์ไม่ดิ้นหรือดิ้นลดลงมากๆ ควรต้องรีบมาพบแพทย์ก่อนนัด ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

ข้อบ่งชี้ของการคลอดก่อนกำหนดและการทำแท้งของการตั้งครรภ์ในโรคลมชักแตกต่างจากการตั้งครรภ์ทั่วไปหรือไม่?

การต้องคลอดก่อนกำหนด หรือ การต้องทำแท้งของผู้ป่วยโรคลมชักโดยทั่วไปแล้วไม่มีความแตกต่างกับการตั้งครรภ์ทั่วไปหรือในผู้ป่วยโรคอื่นๆ คือต้องพิจารณาถึงสุขภาพของแม่และความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ ดังนั้นการประเมินอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและถูกต้องโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญนั้นมีความสำคัญมาก กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักแบบต่อเนื่อง (Status epilep ticus) แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดคลอดก่อนกำหนดถ้าอายุครรภ์นั้นเหมาะสม คือทารกในครรภ์มีความสมบูรณ์และมีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 1,500 กรัม

การดำรงชีวิตของผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักแตกต่างกับหญิงทั่วไปอย่างไร?

การดำรงชีวิตโดยทั่วไปของผู้หญิงที่เป็นโรคลมชัก ไม่แตกต่างกับคนทั่วไป คือ สามารถทานอาหารได้อย่างปกติ ไม่มีอาหารต้องห้าม ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประ กอบ การเล่นกีฬาก็สามารถเล่นได้ตามปกติ มีข้อควรระวังในบางชนิดกีฬาเท่านั้น เช่น การว่ายน้ำ ควรมีผู้ดูแลที่ทราบว่าเราเป็นโรคลมชัก จะได้ดูแลเป็นพิเศษ ถ้ามีอาการชักเกิดขึ้นจะได้ช่วย เหลือได้ทัน การเล่นกีฬาที่มีการปะทะหรือกีฬาผาดโผน ก็ควรระมัดระวังเช่นกัน

สรุป

ผู้ป่วยหญิงโรคลมชัก สามารถแต่งงาน มีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกับหญิงทั่ว ไป เพียงแต่ต้องได้รับการวางแผนการรักษาและได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องได้รับการอธิบายถึงประเด็นต่างๆที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการชัก ผลของการชักต่อการตั้งครรภ์ ผลของยากันชักและผลของการชักต่อทารกในครรภ์ ผู้ป่วยต้องได้รับการดู แลรักษาอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่รักษาโรคลมชัก ทั้งก่อนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด ไม่ควรหยุดยากันชักเองโดยเด็ดขาด ควรพบแพทย์ตามนัด และถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรต้องรีบพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ

บรรณานุกรม

    Brodtkorb E, Reimers A. Seizure control and pharmacokinetics of antiepileptic drugs in pregnancy women with epilepsy. Seizure 2008;17:160-5.
    Kaplan PW, Norwitz ER, Ben-Menachem E, et al. Obstetric risks for women with epilepsy during pregnancy. Epilepsy & Behavior 2007;11:283-91.
    3. Tomson T, Battino D. Teratogenic effects of antiepileptic drugs. Seizure 2008;17:160-71.
    Tomson T, Hiilesmaa V. Epilepsy in pregnancy. BMJ 2007;335:769-73.

โดย : รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
        อายุรแพทย์ประสาทวิทยา
        คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

   

ออฟไลน์ NONG

  • Shoutbox
  • Hero Member
  • *
  • กระทู้: 1,451
Re: โรคลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2014 เวลา 10:38 น. »
โรคลมชักในผู้หญิง 10 ประการที่ควรรู้
http://www.komchadluek.net/detail/20140611/186203.html

1.ผู้หญิงโรคลมชักสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ โดยทั่วไปแล้วการมีเพศสัมพันธ์เมื่อแต่งงานแล้วไม่ได้เป็นข้อห้ามใดๆ เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียใดๆ ต่อโรคลมชักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักที่รุนแรงขึ้น เพียงแต่ถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดที่ดี

2.ผู้หญิงโรคลมชักแต่งงานได้หรือไม่ โดยปกติแล้วทั้งผู้หญิงและชายที่เป็นโรคลมชักสามารถแต่งงานได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้ามใดๆ แต่จากการศึกษาทั่วโลกพบว่าผู้หญิงโรคลมชักมีโอกาสแต่งงานต่ำกว่าคนทั่วไป เนื่องมาจากครอบครัวฝ่ายชายไม่อนุญาตให้บุตรชายแต่งงานกับผู้หญิงโรคลมชัก และผู้หญิงเองก็มีปัญหาในการเข้าสังคม ยิ่งทำให้โอกาสการแต่งงานลดต่ำลง

3.ผู้หญิงโรคลมชักสามารถมีบุตรได้หรือไม่ การมีบุตรในผู้หญิงโรคลมชักไม่ได้เป็นข้อห้าม เพียงแต่ต้องมีการวงแผนครอบครัวให้ดี ต้องมีการควบคุมการชักให้ได้ดีก่อน หยุดยากันชักได้ยิ่งดี เพราะยากันชักทุกชนิดเพิ่มโอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าต้องการมีบุตรจริงๆ ในขณะที่ยังทานยากันชัก แพทย์จะต้องปรับเปลี่ยนยากันชักที่ก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกสูงไปใช้ยากันชักที่ก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกต่ำก่อนการตั้งครรภ์ ได้แก่ ยากันชักลาโมทิจีน (lamotrigine) หรือลีวีไทราซีแทม (levetiracetam) และต้องได้รับกรดโฟลิคขนาด 5 มิลลิกรัมร่วมด้วยเสมอ

4.ผู้หญิงโรคลมชักสามารถให้นมบุตรได้หรือไม่ การให้นมบุตรไม่ได้เป็นข้อห้าม ถึงแม้ว่ายากันชักทุกชนิดจะมีการขับออกมาทางน้ำนมด้วยเสมอ แต่ผ่านออกมาในปริมาณที่ต่ำมาก ไม่ได้ส่งผลเสียต่อทารกที่ดูดนมแม่ เพียงแต่ต้องมีการระวังอาการชักในขณะให้นมบุตร เนื่องจากมีการพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน เพราะถ้ามีอาการชักลูกอาจหล่นได้ ดังนั้นขณะให้นมบุตรไม่ควรนอนให้นม เพราะอาจเผลอหลับไปหรือถ้ามีอาการชักจะนอนทับได้ ควรมีโต๊ะรองขณะให้นมเพื่อป้องกันการหล่น และมีคนอยู่เป็นเพื่อนขณะให้นมด้วยจะดีที่สุด

5.การคุมกำเนิดในผู้หญิงโรคลมชักควรใช้วิธีใด สามารถให้ทานยาเม็ดฮอร์โมนคุมกำเนิดได้หรือไม่ ถ้าทานยากันชักโซเดียมวาวโปเอต (sodium valproate) กาบาเพ็นติน (gabapentin) ลาโมทิจีน (lamotrigine) ก็สามารถใช้ยาเม็ดฮอร์โมนคุมกำเนิดได้ แต่ถ้าเป็นยากันชักชนิดอื่นๆ จะส่งผลทำให้ระดับฮอร์โมนคุมกำเนิดมีระดับลดลง ต้องใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดขนาดสูง การคุมกำเนิดอีกวิธีที่ปลอดภัยกรณีมีบุตรแล้ว คือใส่ห่วงอนามัย ถ้าดีที่สุดควรให้ฝ่ายชายคุมกำเนิดโดยการใช้ถุงยางอนามัย
6.การคลอดบุตร ผู้หญิงโรคลมชักสามารถคลอดบุตรทางช่องคลอดได้ตามปกติ ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอดเหมือนกับผู้หญิงตั้งครรภ์ทั่วไป ยกเว้นมีการชักขณะคลอดก็ต้องรีบควบคุมอาการชักและรีบทำการช่วยคลอดอย่างเร็ว เช่น การใช้คีมหรือเครื่องดูดช่วยคลอด หรือผ่าตัดคลอดตามความเหมาะสมและข้อบ่งชี้ทางการคลอด

7.การหยุดยากันชักเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก ถึงแม้ว่ายากันชักจะส่งผลเสียให้เกิดความพิการแต่กำเนิดได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้พบในอัตราที่สูงมาก ขึ้นกับชนิด ขนาดและจำนวนยากันชักที่รับประทาน การหยุดยาไม่ได้ช่วยลดโอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกได้ เนื่องจากความพิการที่เกิดขึ้นมักจะเกิดตั้งแต่การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 6-8 แล้ว ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ก็มักจะเกินระยะเวลาตั้งครรภ์ 6-8 สัปดาห์ไปแล้ว การหยุดยากันชักทันทีจึงไม่มีประโยชน์ แต่อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่า เพราะถ้ามีการหยุดยากันชักทันทีจะทำให้มีโอกาสเกิดการชักแบบต่อเนื่องได้ ซึ่งมีอันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง

8.การมีรอบประจำเดือนจะทำให้มีการชักบ่อยขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยหญิงโรคลมชักอาจมีการชักบ่อยขึ้นช่วงมีรอบประจำเดือนหรือช่วงตกไข่ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงเวลาดังกล่าว ถ้าพบว่ามีการชักบ่อยขึ้นที่สัมพันธ์กับการมีรอบประจำเดือนที่ชัดเจนควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์จะได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและเพิ่มยาระงับชัก เช่น ยาแวเลียม (valium) หรือโคบาแซม (clobazam) ในช่วงดังกล่าว

9.โรคลมชักมีผลต่อการมีรอบประจำเดือน เนื่องจากโรคลมชักและยากันชักที่รับประทานส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศ จึงส่งผลทำให้รอบประจำเดือนมักมาไม่สม่ำเสมอ พบได้ทั้งแบบรอบประจำเดือนยาวนานกว่าปกติและสั้นกว่าปกติ

10.วัยหมดประจำเดือนส่งผลต่อการควบคุมการชัก ในช่วงแรกของการหมดประจำเดือนพบว่ามีการชักได้บ่อยขึ้น อาจเนื่องมาจากมีการลดลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนก่อนที่จะมีการลดงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้อัตราส่วนของฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อโปรเจสเตอโรนสูงขึ้น จึงส่งผลให้มีการชักบ่อยขึ้น แต่ในระยะต่อมามีการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนจนตรวจไม่พบ การชักก็ลดลง

เมื่อเราทุกคนและผู้ที่เป็นโรคลมชักมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักก็จะได้มีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับพวกเราทุกคน


รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า

สาขาประสาทวิทยา

ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์

กลุ่มวิจัยโรคลมชักแบบบูรณาการ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ออฟไลน์ shellshock

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • บล็อกโรคลมชัก
Re: โรคลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2014 เวลา 17:06 น. »
ขอบคุณครับ
นี่เป็นเนื้อหาที่สามารถ เพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับโรคลมชัก
เพื่อเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติตัว ให้ปลอดภัยจาก โรคนี้
รู้ทัน โรคลมชัก :: http://learningepilepsy.blogspot.com

ออฟไลน์ withmysimplelife

  • Jr. Member
  • *
  • กระทู้: 24
Re: โรคลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2020 เวลา 16:24 น. »
ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ
ตอนแรกเป็นห่วงแค่เรื่องตอนคลอดจะไม่สามารถคลอดได้แบบธรรมชาติเพราะว่าเป็นเนื้องอกในสมอง
หมอไม่ให้เบ่งหนักๆและไม่ให้ยกของหนัก

แต่ลืมเรื่องการที่ตัวเองต้องมีลูกทั้งที่ยังกันยากันชักอยู่เลย คงลำบากพอควร
Dailantin 100mg 3เม็ดก่อนนอน
VALPARIN 200mg 3เวลาหลังอาหาร
Update :ไม่ชักมา5เดือนแล้ว

ออฟไลน์ Redfield

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • www.baccarat168.liv
Re: โรคลมชักในผู้หญิง (Epilepsy in women)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2021 เวลา 13:46 น. »
 :D :D

 


Powered by EzPortal