Forum > ทำความรู้จักโรคลมชัก

โรคลมชักคืออะไร

<< < (2/2)

jelly:
ขอเสริมคุณป๊อบนะครับ

สังเกตอาการลมชักก่อนจะสาย

ข่าวที่บุตรชายของจอห์น ทราโวต้าเสียชีวิตในห้องน้ำด้วยภาวะลมชัก วิกตอเรีย แบคแฮม ตวาดใส่ช่างภาพด้วยความตกใจที่มารุมถ่ายภาพลูกชายคนกลางของเธอว่า แสงแฟรชจะกระตุ้นอาการลมชัก หรือภาพที่นักร้อง Prince ออกมายอมรับว่า เขาเกิดมาเป็นโรคลมชัก ล้วนสร้างความรู้สึกตระหนกแกมตระหนักว่า โรคลมชักอาจใกล้ตัวกว่าที่คิด

โรคลมชักพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย และในประเทศไทย ประมาณกันว่ามีผู้ป่วยโรคลมชักราว 6-7 แสนคน ทั้งนี้เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมอง ซึ่งมีการนำของกระแสไฟฟ้าที่ลัดวงจรก่อให้เกิดอาการชักตามมา และอาจมีสาเหตุได้ตั้งแต่จากโรคทางกรรมพันธุ์ ภาวะติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน มีไข้สูงแล้วชัก มีอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง เซลล์ในสมองอยู่ผิดที่ ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง และอีกหลายสาเหตุ

ภาวะชักที่มีอาการเกร็ง อาการกระตุก ทั้งเกร็งและกระตุก คอบิด แขนเหยียดไม่เท่ากัน หรือมีอาการชักทั่วทุกส่วนที่เรียก โรคลมบ้าหมู อาจจะเป็นอาการที่สังเกตง่าย ผู้ป่วยมีโอกาสถูกนำตัวส่งแพทย์และได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ สูง

?โรคลมชักหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และถูกต้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหายขาดได้ครับ? ดร. นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์ระบบประสาทผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชัก ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าว คุณหมอศึกษาสาขาโรคระบบประสาทวิทยา และโรคลมชักในระดับปริญญาเอก จาก Melbourne University ?แต่ถ้าปล่อยให้คนไข้ชักอยู่เรื่อย สภาวะที่กระแสไฟฟ้าในสมองถูกระตุ้นมากเกินไป จะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารทำลายเซลล์สมอง เซลล์สมองจะตาย เน็ตเวิร์คภายในเซลล์สมองจะเสีย คนไข้ที่มีอาการชักนานๆ พอเอ็กซเลย์สมอง 2 ปีถัมา สมองเหี่ยวไปเยอะเลย สมองส่วนความจำก็เหี่ยวด้วย แล้วยังกระทบต่อสมองส่วนอื่น ภาวะเหล่านี้ถ้าเรารักษาช้าจะไม่เหมือนเดิมเลย?

แต่โรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการมาก อยู่ที่ว่าภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองไปผิดปกติในสมองส่วนใด และรุนแรงแค่ไหน บางอาการจึงสังเกตยากมาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก ก็ไม่ได้รับการรักษา เช่น ภาวะเหม่อลอย ภาวะวูบไป ภาวะเบลอจำอะไรไม่ได้ชั่วขณะวูบ ฯลฯ ยิ่งถ้าอาการเหล่านี้ เป็นเพียงไม่กี่วินาทีแล้วหาย ก็ยิ่งไม่ทันสังเกต ซึ่งคุณหมอแนะว่า ถ้ามีอาการเหล่านี้ซ้ำๆ ยิ่งมีอาการวูบตามมา แม้จะไม่มีอาการเกร็ง ชัก กระตุก ก็ควรมาพบแพทย์ การซักอาการ ประวัติ รวมทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จะช่วยบอกได้ว่าเป็นภาวะของโรคลมชักหรือไม่



?แค่อาการวูบ ที่เหมือนนิ่งไป หรือเหมือนความจำหายไปชั่วขณะ ก็มีหลายระดับ ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวเลย คือวูบ 100 เปอร์เซ็นต์ จำอะไรไม่ได้ บางคนวูบในลักษณะจำเหตุการณ์ได้ แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บางคนรู้สึกเหมือนการสั่งงานไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น ปกติ หรือการสั่งงานช้าลง ผู้ป่วยที่มีอาการวูบร่วมด้วย จะค่อนข้างชัดเจน แต่บางคนที่ยังไม่มีอาการนี้ เขาก็ไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก สุดท้ายพอทิ้งไว้และเกิดชักกระตุก คราวนี้ก็อันตายเกินไป?

ผู้ป่วยลมชักหลายคนมาด้วยอาการแปลกๆ เช่นเห็นภาพหมุน เห็นภาพเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ เห็นแสงจ้าสีสันหลากหลาย (ต่างจากผู้ป่วยโรคไมเกรนซึ่งจะเห็นแสงจ้าขาวดำ) เห็นภาพในอดีตวิ่งผ่านสมองเหมือนฉากในภาพยนตร์ หรือบางคนเห็นภาพหลอน หูแว่ว กลัว และหลายคนมาด้วยอาการทางจิตประสาท ต่อเมื่อได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง จึงทราบว่ามีอาการของโรคลมชัก

?ถ้าความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมองไปปรากฎที่สมองส่วนควบคุมจิตใจ ก็อาจมีอาการทางจิตใจที่ผิดปกติไป เช่น Deja Vu ความรู้สึกที่เหมือนคุ้นเคยทั้งที่ไม่เคยรู้จัก หรือเข้าไปที่ไหน ก็เหมือนเคยเจอใครมาก่อน ทั้งที่ไม่ใช่ หรือในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เคยคุ้นหรืออยู่บ้านตัวเอง ก็เกิดรู้สึกแปลกไป เจอแฟนตัวเอง ก็รู้สึกเหมือนคนแปลกหน้า?

?อีกเคส เด็กคนหนึ่งมาหาเรา มีอาการนิ่ง และเหม่อลอย แต่ก่อนที่เขาจะชัก เขาจะเห็นภาพผู้หญิงผมยาวยืนหันหลังให้ บางคนฟังแล้วผวา เป็นภาพผู้หญิงที่ไม่มีตัวตน เหล่านี้อาจเป็นอาการเตือนของโรคลมชักได้ครับ?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จะช่วยเช็คคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคลมชักได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลกรุงเทพ มีให้บริการทั้งชนิด Routine EEG ใช้เวลาตรวจ 30 นาที (โอกาสค้นพบคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติในผู้ที่เป็นโรคลมชักราว 60 เปอร์เซ็นต์) และชนิด VDO-EEG monitoring เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง 24 ชม พร้อมวีดีโอบันทึกกิจกรรมของผู้ป่วยเปรียบเทียบกับคลื่นไฟฟ้าในสมองในแต่ละขณะ ซึ่งแพทย์อาจสั่งตรวจเพียง 24 ชม หรือตรวจติดต่อกันหลายวันแล้วแต่ความเหมาะสม

เนื่องจากคนไข้โรคลมชักกลุ่มหนึ่งมีภาวะดื้อยา และอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง ทางโรงพยาบาลกรุงเทพ ยังมีบริการตรวจทางกัมมันตรังสี (Ictal SPECT) และการตรวจ PET Scan รวมทั้งการตรวจตำแหน่งความจำในสมอง ซึ่งการตรวจเหล่านี้จำเป็นต้องตรวจควบคู่กันเพื่อการกำหนดตำแหน่งสมองบริเวณที่มีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติให้ชัดเจนก่อนทำการผ่าตัดสมอง และคุณหมอโยธินก็เป็นหนึ่งในแพทย์ผู้บุกเบิกการใช้ Ictal SPECT และ PET Scan ในการกำหนดตำแหน่งคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติเพื่อการผ่าตัดสมอง ผลงานวิจัยของคุณหมอในเรื่องนี้ได้รับรางวัลจากสมาคมโรคลมชักแห่งออสเตรเลีย

?เมืองไทยมีการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาโรคลมชักปีหนึ่งประมาณร้อยกว่าราย ซึ่งถือว่าไม่เยอะถ้าเทียบกับผู้ป่วยที่มีอาการดื้อยาในขณะนี้หลายหมื่นคน โรงพยาบาลที่พร้อมทุกด้านในการรักษาโรคลมชักด้วยการผ่าตัดสมองยังมีไม่กี่แห่งครับ? คุณหมอทิ้งท้ายด้วยความเสียดาย

jelly:
"แพทย์จุฬาฯ โชว์ฟอร์มเจ๋ง"


เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 เม.ย. ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พร้อมด้วย ผศ.นพ.สุรชัย เคารพธรรม

หัวหน้าภาควิชาประสาทศัลยศาสตร์ แถลงข่าวความสำเร็จของการผ่าตัดก้อนเนื้อในโพรงน้ำสมองด้วยวิธีการส่องกล้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีความยากลำบากมากกว่าการผ่าตัดสมองแบบปกติ

สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยทีมประสาทศัลยแพทย์ของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เป็นผู้ทำการผ่าตัด ประกอบด้วย ผศ.นพ. กฤษณพันธ์ บุณยะรัตเวช ผศ.นพ.รุ่งศักดิ์ ศิวานุวัฒน์ ผศ.นพ.สุรชัย เคารพธรรม และ รศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ เป็นวิสัญญีแพทย์

ผศ.นพ.กฤษณพันธ์ บุณยะรัตเวช  ประสาทศัลยแพทย์ ผู้ทำการผ่าตัด เปิดเผยว่า การผ่าตัดครั้งนี้เป็นการผ่าตัดผู้ป่วยหญิงอายุ 18 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ป่วยเป็นโรคลมชักมาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ลักษณะอาการคือ มีอาการชัก ร่วมกับการหัวเราะและร้องไห้ บางครั้งมีอาการเหม่อลอยร่วมด้วย ครั้งละ 1-2 นาที ขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งภายนอกได้ แม้ว่าจะรู้ตัวอยู่ตลอด ผู้ป่วยรายนี้ได้เข้ามารักษาในโครงการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักครบวงจร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
โดยได้รับการตรวจจาก รศ.นพ.ชัยชน โลว์เจริญกุล

และคณะแพทย์ของโครงการ ผลการตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อในโพรงน้ำสมอง ที่เรียกว่า ก้อนฮามาร์โตมา บริเวณไฮโปธาลามัส แพทย์ได้ทำการปรับยากันชักให้ผู้ป่วยหลายชนิด แต่ผู้ป่วยยังมีอาการชักกว่าร้อยครั้ง ทุกๆ 2 เดือน จึงได้มีการปรึกษาทีมประสาทศัลยแพทย์เพื่อพิจารณาทำการผ่าตัด

ผศ.นพ.กฤษณพันธ์กล่าวว่า

การผ่าตัดครั้งนี้ มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากก้อนเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ฮามาร์โตมา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างผิดปกติของผู้ป่วย อยู่ในตำแหน่งของสมองส่วนที่เรียกว่าไฮโปธาลามัส ซึ่งเป็นสมองส่วนที่สำคัญมาก รวมทั้งอยู่ในจุดที่ใกล้กับสมองส่วนควบคุมความจำ ที่เป็นจุดเชื่อมสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาเข้าด้วยกัน หากได้รับความกระทบกระเทือน อาจมีความพิการที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ตำแหน่งของก้อนเนื้อฮามาร์โตมาของผู้ป่วยรายนี้ยังอยู่ในตำแหน่งที่ลึก หากจะใช้การผ่าตัดแบบเปิด จะต้องผ่านสมองปกติเป็นระยะทางไกล และการผ่าตัดแบบเปิดอาจมีการดึงรั้งสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำแบบชั่วคราว หรือแบบถาวรได้ และที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยรายนี้มีโพรงสมองที่แคบมาก หากจะผ่าตัดโดยวิธีเปิด จะต้องมีการดึงรั้งสมองมากกว่าปกติ ซึ่งอันตรายมาก

ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว
คณะแพทย์ จึงตัดสินใจทำการผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง โดยมีระบบคอมพิวเตอร์นำทาง ที่เรียกว่าเนวิเกเตอร์ ซิสเต็ม (Navigator system) เข้าไปยังจุดของก้อนเนื้อ และสามารถนำก้อนเนื้อออกได้ โดยไม่ต้องผ่านเนื้อสมองที่สำคัญ ไม่ต้องดึงรั้งสมอง ทำให้การผ่าตัดครั้งนี้มีความแม่นยำสูง เสียเลือดน้อยกว่า และใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 1 ชั่วโมง เท่านั้น ผศ.นพ.กฤษณพันธ์กล่าวและว่า หลังผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการดี ไม่มีอาการชักอีก และไม่พบอาการแทรกซ้อน

นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถิติที่เคยมีการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ทั่วโลกมีประมาณ 60 ราย ในประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version