เชิญร่วมงาน รวมพลังสายใย...เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลมชัก วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.62 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 รพ.พระมงกุฎเกล้า

เชิญร่วมงาน รวมพลังสายใย...เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยลมชัก วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.62 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 รพ.พระมงกุฎเกล้า 

 

ผู้เขียน หัวข้อ: โรคลมชัก 10 ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย  (อ่าน 2868 ครั้ง)

ออฟไลน์ NONG

  • Shoutbox
  • Hero Member
  • *
  • กระทู้: 1,451
โรคลมชัก 10 ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย
« เมื่อ: วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2015 เวลา 12:27 น. »
โรคลมชัก 10 ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย

โดย : นายแพทย์ สมศักดิ์ เทียมเก่า
ที่มา : www.facebook.com/somsak.tiamkao/posts/821885494599668


โรคลมชัก เป็นโรคที่พบบ่อย และมีความใจผิดในเรื่องของโรคมากที่สุดโรคหนึ่ง อาจเป็นเพราะขาดการสร้างความรู้ที่ถูกต้องต่อ ผู้ป่วย ญาติ ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป และต่อสังคม เราทุกคนต้องร่วมแก้ไขความเข้าใจผิด และสร้างทัศนคติที่ดีต่อโรคลมชัก และต่อผู้ป่วยโรคลมชัก เพื่อช่วยกันเพิ่มประสิทธิภาพทางการดูแลรักษาโรค และต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

1. โรคลมชักคือลมบ้าหมู

โรคลมชัก คือ โรคที่ผู้ป่วยมีอาการชักซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป โดยไม่ต้องมีปัจจัยกระตุ้น/ตัวกระตุ้น ซึ่งรูปแบบการชักนั้น มีหลายรูปแบบ เช่น นิ่งนิ่ง, เหม่อลอย, กระตุกเฉพาะแขน ขา, ล้มลงทั้งยืน, เดินไปมา, รู้สึกตัวดี, ไม่รู้ตัว/หมดสติและแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หมดสติ (ที่ทุกคนเข้าใจและรู้จักดี คือ ลมบ้าหมู) ดังนั้น โรคลมชักก็เปรียบเสมือนผลไม้ที่มีหลายชนิด เช่น ฝรั่ง มังคุด ละมุด ลำไย ซึ่งก็คือ ลมชัก แต่ละชนิดนั้นเอง
ดังนั้น ทางการแพทย์ ลมบ้าหมู จึงเป็นเพียงการชักชนิดหนึ่ง/รูปแบบหนึ่งของโรคลมชักเท่านั้น ดังนั้นโรคลมชักไม่ใช่โรคลมบ้าหมูอย่างเดียว และคนที่เป็นลมบ้าหมูก็ไม่ได้เป็นคนบ้าตามชื่อโรคน่ะครับ

2. โรคลมชักรักษาไม่หาย

โรคลมชัก เป็นโรคทางระบบประสาทที่มีผลการรักษาที่ดีโรคหนึ่ง คือ ประมาณ 80-90% ของผู้ป่วยตอบสนองดีต่อการรักษา ประมาณ 65% ของผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้ยากันชักหลายชนิดเพื่อควบคุมอาการชัก มีเพียงประมาณ 15% ที่รักษายาก ไม่ตอบสนองต่อยากันชักหลายชนิด และผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

3. ผู้ป่วยโรคลมชักทานยาเฉพาะช่วงมีอาการชักเท่านั้น

การทานยากันชัก ต้องทานสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวันนานประมาณ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ชักครั้งสุดท้าย แล้วแพทย์จึงค่อยๆปรับลดยากันชักลงจนหยุดยาในที่สุด ดังนั้นในการรักษาต้องใช้เวลานานอย่างน้อยประมาณ 3 ปี การที่ผู้ป่วยและญาติเข้าใจไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการทานยากันชักผิดวิธี ทานยาเฉพาะวันที่ชักเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ และยังอาจก่อให้เกิดปัญหายาเกินขาด เนื่องจากการทานยาเฉพาะวันที่มีอาการชัก ผู้ป่วยบางคนชัก 5 ครั้ง ก็ทานยาซ้ำ 5 ครั้ง ส่งผลให้ยาเกินขนาด

4. ผู้ป่วยโรคลมชักเมื่อทานยารักษาโรคอื่นๆ ต้องหยุดยากันชัก เพื่อป้องกันการตีกันระหว่างยา 2 ชนิด

ยากันชักมีโอกาสทำปฏิกิริยากับยาอื่นๆ (ปฏิกิริยาระหว่างยา) ได้บ่อย แต่ห้ามหยุดยากันชัก เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสชักแบบรุนแรงได้ ทางปฏิบัติที่ถูกต้องคือ ต้องแจ้งให้แพทย์โรคอื่นๆทราบว่าทานยากันชักชนิดใดอยู่ เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาปรับเปลี่ยนชนิดของยาที่ใช้รักษาโรคนั้นๆ หรือต้องปรับขนาดยาให้เหมาะสม รวมทั้งเมื่อพบแพทย์รักษาโรคลมชัก ก็ต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษาโรคลมชักด้วยว่า ทานยาอื่นๆอะไรอีกบ้าง การหยุดยากันชักเอง โดยไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดการชักแบบต่อเนื่อง (status epilepticus) มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก จึงขอบอกว่าไม่ควรหยุดยากันชักเองโดยเด็ดขาดครับ ยกเว้นทานยากันชักแล้วมีอาการแพ้รุนแรงเท่านั้น

5. ผู้ป่วยโรคลมชักต้องทานยากันชักเพิ่มทุกครั้งที่มีอาการชัก

ยากันชักเป็นยาที่ต้องทานประจำเพื่อควบคุมอาการชัก แต่ห้ามทานเพิ่มหลังจากมีอาการชัก เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ยังทำให้มีระดับยาเป็นพิษในเลือดสูงขึ้น ส่งผลเสียต่อร่างกาย ยกเว้นในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักบ่อยๆ เป็นประจำ แพทย์จะจัดยาให้ทานเพิ่มขึ้น เฉพาะวันที่มีอาการชักเพิ่มเท่านั้น ส่วนยากันชักทานประจำก็ทานเท่าเดิม ถ้ามีอาการชักบ่อยขึ้น ก็ควรมาพบแพทย์ก่อนนัด แพทย์จะประเมินว่าต้องปรับเปลี่ยนการรักษาหรือไม่ เพราะการชักบ่อยๆขณะได้รับรักษาอยู่นั้น อาจมีปัจจัยอื่นๆกระตุ้นให้เกิดอาการชัก แพทย์จึงต้องตรวจประเมินหาปัจจัยเหล่านั้น ย้ำอีกครั้งห้ามทานยากันชักเพิ่มเองหลังการชักทุกครั้ง

6. โรคลมชักเป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมและติดต่อทางน้ำลาย และการสัมผัสได้

โรคลมชักไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดต่อโดยการสัมผัส การหายใจ ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ หรือทางเลือดใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมสู่ลูกนั้น มีโอกาสต่ำ คือ ประมาณ 1% ถ้าผู้ป่วยนั้นมีสาเหตุลมชักจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

7. การช่วยเหลือผู้ป่วยชักแบบลมบ้าหมูต้องงัดปาก ป้องกันการกัดลิ้น

การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ชักแบบลมบ้าหมู (ชักทั้งตัวและหมดสติขณะชัก) นั้นคือ ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ตกเตียง กระแทกของแข็งข้างตัว สำลักอาหาร ดังนั้น การดูแลช่วยเหลือ คือ การจับผู้ป่วยนอนลงกับพื้นให้ห่างจากของแข็งที่ผู้ป่วยอาจชักแล้วไปกระแทกได้ ทั้งนี้ ในขณะชัก การกัดลิ้นนั้นพบน้อยมาก และถ้าเกิดขึ้น ก็ไม่มีอันตราย แต่ถ้างัดปากใส่วัสดุงัดช่องปาก ( เช่น ด้ามช้อน) อาจเกิดผลเสียมากกว่า (เช่น ฟันผู้ป่วยหักหลุดเข้าหลอดลม หรือ ผู้ป่วยกัดนิ้วคนงัดปาก กรณีใช้นิ้วช่วยงัดปาก) จึงไม่ควรงัดปากผู้ป่วย เพียงแค่ป้องกันการสำลักอาหาร ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และภายหลังหยุดชักก็ดูว่าผู้ป่วยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือไม่ คอยให้กำลังใจผู้ป่วย ย้ำอีกครั้งไม่ต้องกดยึดแขนขาผู้ป่วย หรืองัดปาก

การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะชักแบบลมบ้าหมูนั้น ห้ามจับยึดผู้ป่วย หรือกดรัดไม่ให้ผู้ป่วยมีการชัก เพราะจะก่อให้เกิดการเคลื่อนหลุดของข้อต่อต่างๆ เช่น ไหล่ สะโพก

กรณีชักแบบพฤติกรรมผิดปกติเดินไปมา ผู้ช่วยเหลือทำหน้าที่เพียงประคองผู้ป่วย ไม่ให้เดินไปในที่ที่อาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น ใกล้แหล่งน้ำ ถนน หรือที่สูง

?
8. ผู้ป่วยโรคลมชักไม่สามารถแต่งงาน มีเพศสัมพันธ์ และมีลูกได้เหมือนคนอื่นๆ

ผู้ป่วยโรคลมชักทั้งชายและหญิง สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนคนอื่นๆ และสามารถแต่งงานและตั้งครรภ์ได้ แต่ต้องมีการวางแผนครอบครัว เพราะยากันชักที่ทานอาจส่งผลต่อทา รกในครรภ์ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยหญิงที่เป็นโรคลมชัก หรือผู้หญิงที่ทานยากันชักเพื่อรักษาโรคอื่นๆ (เช่น รักษาอาการปวดจากโรคทางระบบประสาท) นั้น ถ้าแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์ต้องมีการวางแผนครอบครัว และถ้าต้องการมีบุตรก็ต้องปรึก ษาแพทย์ก่อน เพื่อวางแผนในการรักษาโรคกันชักและทารกในครรภ์ให้เหมาะสม
ทั้งนี้ ถ้าผู้หญิงที่ใช้ยากันชักต้องการมีบุตร ดีที่สุดโรคลมชักควรต้องควบคุมได้ และหยุดยากันชักได้ แต่ถ้ารอไม่ได้ต้องการมีบุตรขณะทานยากันชัก ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อปรับ เปลี่ยนชนิดและขนาดยากันชัก ที่มีผลเสียต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ให้มีโอ กาสเกิดความผิดปกติน้อยที่สุด การฝากครรภ์ก็จำเป็นต้องพบแพทย์อย่างใกล้ชิด และต้องมีการประเมินความผิดปกติของทารกในครรภ์ร่วมด้วยเป็นระยะๆ ส่วนการคลอดนั้น สามารถคลอดได้ตามปกติ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า ต้องผ่าคลอด ยกเว้นมีอาการชักขณะคลอด

9. ผู้ป่วยโรคลมชักมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าคนอื่นๆ
ผู้ป่วยโรคลมชัก ที่ชักไม่บ่อยและไม่ได้มีความพิการแต่กำเนิด ส่วนใหญ่มีสติปัญญาปกติ ยกเว้นกรณีมีความพิการทางสมองแต่กำเนิด หรือชักบ่อยมากๆ ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้เป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลต่อสติปัญญา

การชักโดยทั่วไป ส่งผลเสียต่อสมองน้อยมากๆ ปัจจุบันผู้เขียนมีผู้ป่วยที่ประกอบอาชีพหลากหลายมีทั้ง แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร และนักกฎหมาย

การชัก มีผลทำให้สมองเสื่อมน้อยมาก ความจำที่เสียไปเป็นเพียงระยะสั้นๆ หลังการชักเท่านั้น ยกเว้นผู้ป่วยที่มีการชักแบบต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 24 ชั่วโมง แบบไม่หยุดเลย (Status epilepticus) ก็จะส่งผลต่อสมองเสื่อมได้

10. ผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรทำงาน หรือเดินทางไกล เพราะจะเกิดอันตรายได้ง่าย

ผู้ป่วยโรคลมชัก อาจเกิดอุบัติเหตุจากการชักได้ เนื่องจากขณะชักจะหมดสติ หรือไม่สามารถควบคุมสติได้ ดังนั้น จึงแนะนำผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรกล ทำงานในที่สูง หรือใกล้แหล่งน้ำ ไม่ควรขับรถ ส่วนอาชีพอื่นๆก็สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้ผู้ร่วมงานให้ทราบว่า เราเป็นโรคลมชัก ถ้าชักจะดูแลเราอย่างไร และถ้ามีอาการเตือนก่อนการชัก ก็รีบหยุดทำงาน แจ้งเพื่อนร่วมงาน และหาที่นั่งหรือนอนราบทันที

ผู้ป่วยโรคลมชัก สามารถทำงานได้ ยกเว้น งานที่ทำกับเครื่องจักรกล ใกล้แหล่งน้ำ หรือในที่สูงที่อาจตกจากที่สูงได้ง่าย แต่ต้องระมัดระวังในงานที่ต้องอดนอน นอนดึก เพราะอาจเป็นปัจจัยกระตุ้น/ตัวกระตุ้นทำให้ชักได้ อาชีพที่ห้าม คือ ขับรถ ขับเครื่องบิน ขับเรือ
ผู้ป่วยโรคลมชัก สามารถเดินทางไกลได้ตามปกติ แต่ให้ระวังการอดนอน และต้องทานยากันชักให้ครบ บางครั้งเดินทางไปต่างประเทศซึ่งมีเวลาแตกต่างกัน ทำให้ได้ยากันชักไม่ครบ

สรุป
ความเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลต่อการรักษาโรคได้ ดังนั้น เราทุกคนต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคลมชัก และต่อผู้ป่วยโรคลมชัก เพื่อผลการรักษาที่ดี และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

ออฟไลน์ YingElke

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • sbobet
Re: โรคลมชัก 10 ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2018 เวลา 12:07 น. »
ขับรถน่ากลัว เห็นข่าวละ ไม่ไหว

ออฟไลน์ Kennochas

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
Re: โรคลมชัก 10 ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: วันพุธที่ 27 มิถุนายน 2018 เวลา 11:37 น. »
เป็นโรคที่น่ากลัวตรงที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นตอนไหน

 


Powered by EzPortal